Muay Thai

ราชาเข็มขัด : ฉมวกเพชร ห้าพลัง ยอดมวยราชดำเนินผู้ไร้เทียมทานจนได้ฉายา “พ่อบานไม่รู้โรย” | Main Stand

“เขาเป็นนักมวยคนเดียวในยุคนั้นก็ว่าได้ที่ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ จะได้รับเสียงชื่นชมและกำลังใจจากแฟนมวยเสมอมา ถือเป็นยอดมวยมหาชนที่แฟนมวยให้ความเชื่อถืออย่างมาก”


 
ธรรมธร บุตรเพ็ง สื่อมวลชนอาวุโสสายมวย เกริ่นนำเรื่องราวเจ้าของสมญา “พ่อบานไม่รู้โรย” ไว้อย่างน่าสนใจ

“ผมดูเขาชกมาตั้งแต่สมัยเข้ามาต่อยที่เวทีราชดำเนินใหม่ ๆ ให้พูดตรง ๆ เลยนะ ผมว่าดังยาก เพราะมีแต่เข่าอย่างเดียว ที่ได้มาต่อยเวทีราชดำเนินก็เพราะบารมีของ ดีเซลน้อย ช.ธนะสุกาญจน์ แต่วันเวลาผ่านไป กลายเป็นผมเองที่มองคนผิด”

“ฉมวกเพชรยิ่งชกยิ่งเก่ง จากมวยเข่าใช้พละกำลังกลายเป็นมวยฝีมือ เดินเตะซ้ายถีบซ้ายจัดจ้านในย่านพระนคร เขาคือยอดมวยที่เป็นความภาคภูมิใจของเวทีราชดำเนินในห้วงเวลาที่นักมวยแม่เหล็กเทไปอยู่ทางฝั่งเวทีลุมพินีที่พระราม 4 เป็นส่วนใหญ่”

“ถ้าจะบอกว่าในช่วงรุ่งโรจน์ของเขา ฉมวกเพชรปราบยอดมวยจากฝั่งลุมพินีจนราบเป็นหน้ากลองก็น่าจะกล่าวได้ ถ้าจัดท็อปไฟว์ยอดมวยราชดำเนินในดวงใจผม หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อ ฉมวกเพชร ห้าพลัง รวมอยู่ด้วยแน่นอน” อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ และคอลัมนิสต์นิตยสารหมัดมวยระดับแนวหน้าของเมืองไทยหลายฉบับ อาทิเช่น ไฟเตอร์, ยอดนักสู้, มวยตู้ และ ยอดมวยเอก พูดถึงยอดมวยในดวงใจอย่างชื่นชม

ทำไม ฉมวกเพชร ห้าพลัง ถึงได้รับการยกย่องว่าเป็น สุดยอดนักชกแห่งวิกแอร์ และเก่งกาจยืนระยะอย่างยาวนานจนได้รับฉายาว่า “พ่อบานไม่รู้โรย” ติดตามเรื่องราวของเขาได้ที่นี่ 

 

เดินตามต้อย (ดีเซลน้อย)

ฉมวกเพชร หรือ วิเชียร บุตรดี เป็นคนอําเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เกิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2505 มีพี่ชายคนโตเป็นนักมวยชื่อ เคลย์น้อย รัศมีจันทร์

วิเชียรมักไปดูพี่ชายซ้อมที่ค่ายมวย ส.วรกุลชัย ของ ครูบุญเลิศ ศรีวรกุล เป็นประจำ แน่นอนว่าเจ้าตัวไม่ได้ไปดูพี่ชายซ้อมอย่างเดียว หลัง ๆ เมื่อไปถึงค่ายก็ลงมือซ้อมจนแทบไม่ได้ดูพี่ชายเลย 

กระทั่งอายุ 12 ปีตอนนั้นเรียนชั้นประถม 5 ที่อ่าวอุดมจัดงานประจำปีมีมวยชกด้วย เผอิญว่ามวยขาดวิเชียรจึงได้ชกไฟต์แรกในชื่อ ฉมวกเพชร ส.วรกุลชัย ก่อนเอาชนะคะแนน ดาวเด่น ศ.ศักดิ์เกษม ได้ค่าตัวมา 80 บาท

“คนที่ตั้งชื่อฉมวกเพชรให้เขาก็คือ ต้อย-ดีเซลน้อย ส.วรกุลชัย หรือ ช.ธนะสุกาญจน์ นั่นเอง ดีเซลน้อยเป็นนักมวยรุ่นพี่ที่แก่กว่าฉมวกเพชร 1 ปี แม้จะคบกันฉันท์เพื่อนแต่ฉมวกเพชรก็เกรงเพื่อนรุ่นพี่อยู่ไม่น้อย”

“ช่วงนั้นดีเซลน้อยเริ่มมีชื่อเสียงและได้เข้ามาชกในเมืองกรุงพร้อมเคลย์น้อย โดยมาอยู่กับ สมชาย-ศิรินันท์ ดวงประเสริฐดี ที่ค่าย ส.ศิรินันท์ ดีเซลน้อยขอให้รับฉมวกเพชรมาอยู่ด้วย เฮียกวง กับ เจ๊นันท์ ก็ไฟเขียวไม่มีปัญหา เพราะมองในแง่ดีก็ถือว่าได้มวยเด็กเพิ่มมาอีก 1 คน”

“ฉมวกเพชรในตอนนั้นน้ำหนัก 31 กิโลกรัม ซ้อมให้สองตายายเจ้าของค่ายมวยชื่อดังได้ดูแต่ไม่ได้เข้าตาอะไร ไฟต์แรกในปี 2521 เฮียกวงให้ใช้ ฉมวกเพชร ส.ธนิกุล ชนะคะแนน เริงณรงค์ สิงห์คงคา ตอนนั้นเจ้าตัวรู้ดีว่าชกไม่ประทับใจเจ้าของค่าย จึงขอไปชกสร้างกระดูกแถวขอนแก่น”

“พอเห็นว่าฟอร์มดีก็กลับเข้าค่าย ขึ้นปี 2522 ก็เปลี่ยนมาใช้สีเสื้อแฟร์เท็กซ์ คราวนี้ดวงมวยทะลุถึงแชมป์เมื่อพลิกชนะคะแนน สามารถ พยัคฆ์อรุณ ในปีถัดมา ได้ครองแชมป์พินเวต เวทีลุมพินี ซึ่งถือเป็นแชมป์แรกในชีวิต”

 

จอมล่าแชมป์แห่งราชดำเนิน

หลังจากนั้น ฉมวกเพชร ก็เดินหน้าล่ารางวัลจนได้เข็มขัดแชมป์มาคาดเอวนับรวมได้ 10 เส้นจาก 7 รุ่น 

นอกจากนี้ฉมวกเพชรยังคว้ารางวัลนักมวยไทยอาชีพยอดเยี่ยมของสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย ในปี 2528 จากผลงานการปราบ มานะศักดิ์ ส.เพลินจิต สุดยอดนักชกฝั่งลุมพินี กลายเป็นยอดมวยถ้วยพระราชทาน เรียงตามปี พ.ศ. ได้ดังนี้ 

- 8 สิงหาคม 2523 ชนะคะแนน สามารถ พยัคฆ์อรุณ ได้ครองแชมป์พินเวต พิกัด 102 ปอนด์ เวทีลุมพินี

- 29 ตุลาคม 2523 ชนะคะแนน เขี้ยวพิษ ชูวัฒนะ ได้ครองแชมป์มินิฟลายเวตที่ว่าง เวทีราชดำเนิน ตอนนั้นยังชกพิกัด 104 ปอนด์

- 23 ตุลาคม 2524 ชนะคะแนน น่ารัก ศิษย์ไกรสีห์ หรือ น่ารัก ศิษย์กวนอิม ในเวลาต่อมา ได้ครองแชมป์จูเนียร์ฟลายเวต พิกัด 108 ปอนด์ เวทีลุมพินี

- 22 มิถุนายน 2525 ชนะคะแนน ก้องธรณี พยัคฆ์อรุณ ได้ครองแชมป์ฟลายเวต พิกัด 112 ปอนด์ เวทีลุมพินี”

- 26 สิงหาคม 2526 ชนะคะแนน ศรศิลป์ ศิษย์เนินพยอม ได้ครองแชมป์แบนตัมเวต พิกัด 118 ปอนด์ เวทีลุมพินี”

- 22 กุมภาพันธ์ 2532 ชนะคะแนน วันพิชิต แก่นนรสิงห์ ได้ครองแชมป์จูเนียร์เฟเธอร์เวต พิกัด 122 ปอนด์ เวทีราชดำเนิน เป็นสมัยแรก

- 29 มีนาคม 2533 ชนะคะแนน แจ็ค เกียรตินิวัฒน์ ได้ครองแชมป์เฟเธอร์เวต พิกัด 126 ปอนด์ เวทีราชดำเนิน เป็นสมัยแรก 

- 30 มีนาคม 2537 ชนะคะแนน ไผ่แดง เลอศักดิ์ยิม หรือ ไผ่แดง เดวี่ ได้ครองแชมป์จูเนียร์เฟเธอร์เวต พิกัด 122 ปอนด์ เวทีราชดำเนิน เป็นสมัยที่ 2

- 27 กรกฎาคม 2537 ชนะน็อก ชัยเดช เกียรติชาญสิงห์ ยก 3 ได้ครองแชมป์เฟเธอร์เวต พิกัด 126 ปอนด์ เวทีราชดำเนิน เป็นสมัยที่ 2  

- 1 พฤษภาคม 2540 ชนะคะแนนเทคนิค เบนจี้ ดูรัน นักมวยฟิลิปปินส์ หลังหมดยก 7 ได้ครองแชมป์เฉพาะกาลเฟเธอร์เวต PABA รุ่นเฟเธอร์เวต ก่อนได้เลื่อนฐานะเป็นแชมป์ตัวจริงในการป้องกันเข็มขัดครั้งแรกในอีก 2 เดือนถัดมา

ความน่าสนใจก็คือ เข็มขัดแชมป์ 6 เส้นจาก 10 เส้นที่คว้ามาครองได้ ล้วนเป็นการชกที่สนามมวยเวทีราชดำเนินทั้งสิ้น จึงพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า ฉมวกเพชร ห้าพลัง คือยอดมวยราชดำเนินตัวจริง และเป็นนักมวยที่ดีที่สุดตลอดกาลอีกคนหนึ่งของวิกแอร์อีกด้วย

นอกจากนี้ ฉมวกเพชร ห้าพลัง ยังได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในนักมวยที่ใช้ชื่อค่ายมากที่สุดของเวทีราชดำเนิน หรืออาจจะเป็นสถิติประเทศไทยด้วยซ้ำ 

ถ้ามีการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นเรื่องเป็นราว โดยเริ่มจาก ส.วรกุลชัย, ส.ธนิกุล, แฟร์เท็กซ์, ส.ศิรินันท์, ห้าพลัง, ธ.ยืนยง, ช่อชะมวง และ สิงห์วังชา

“ด้วยความที่ได้ครองแชมป์หลายเส้นทำให้ฉมวกเพชรยืนระยะเป็นนักมวยเงินแสนมาร่วม 20 ปี ได้ชื่อว่าเป็นยอดมวยระดับแถวหน้าของประเทศมายาวนานถึง 2 ทศวรรษ จึงเป็นที่หมายปองของโปรโมเตอร์ต่างศึกที่จะจ้างไปชกด้วยค่าตัวที่แพงกว่าปกติ”

“โดยเฉพาะศึกวันทรงชัย รายการมวยอันดับ 1 ในเวลานั้นที่จ้างฉมวกเพชรไปชกจนปราบยอดมวยวันทรงชัยซึ่งเป็นมวยแม่เหล็กของเวทีลุมพินีได้หลายต่อหลายราย” 

“ไล่มาตั้งแต่ยุค 2 พี่น้องพยัคฆ์อรุณ (ก้องธรณีกับสามารถ), มานะศักดิ์ ส.เพลินจิต, ชาญชัย ส.ธรรมรังสี, โอเล่ห์ เกียรติวันเวย์, พฤหัสเล็ก ศิษย์ชุนทอง, แสงเทียนน้อย ศิษย์สุรพงษ์ (ส.รุ่งโรจน์) และ หลังสวน พันธุ์ยุทธภูมิ” ธรรมธร บุตรเพ็ง กล่าว 

 

นักมวยไทยผู้เปิดตลาดอเมริกา และตำนานแห่งราชดำเนิน

ความเก่งกาจและชื่อเสียงของ ฉมวกเพชร ดึงดูดให้แฟนมวยแห่กันเข้ามาดูมวยที่สนามได้เสมอ เป็นมวยแม่เหล็กที่ดึงดูดคลื่นมหาชนได้อย่างง่ายดาย 

ในยุคนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่มีมวยนัดใหญ่หรือรายการพิเศษทีไรก็เป็นอันต้องเรียกใช้บริการของ ฉมวกเพชร ห้าพลัง ทุกที ไม่ว่าจะฝั่งราชดำเนินหรือลุมพินี 

ไม่เพียงเท่านั้นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ที่ฉมวกเพชรฝากไว้คือการควงคู่กับ ช้างเผือก เกียรติทรงฤทธิ์ เดินทางไปชกที่โรงแรม แซนด์ โฮเต็ล แอนด์ กาสิโน เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2531
 
รายการนี้มีการถ่ายทอดสดทั่วทวีปอเมริกาและทวีปอื่น ๆ อีกหลายประเทศ ถือเป็นนักมวยไทยกลุ่มแรกที่โกอินเตอร์อย่างเป็นทางการ ผลการชกปรากฏว่า ช้างเผือก ซึ่งโดนต่อยกรามหักในยกแรก ฟื้นกลับมาไล่เตะเจาะยางชนะน็อกในยกที่ 5 ขณะที่ ฉมวกเพชร เตะซ้ายเข้าใบหน้า ชนะน็อกแชมป์คิกบ็อกซิ่งชื่อ เฟลิเป้ การ์เซีย ยก 3 ผลพวงจากการชกทำให้คนอเมริกันรู้จักมวยไทยมากขึ้น จนทำให้มวยไทยเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน

“ในบั้นปลายการค้ากำปั้น ฉมวกเพชรยังสร้างเกียรติประวัติให้เวทีราชดำเนินและตัวเองด้วยการขึ้นชกไฟต์ประวัติศาสตร์กับ สมรักษ์ คำสิงห์ หรือ พิมพ์อรัญเล็ก ศิษย์อรัญ นักมวยรุ่นน้อง เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2535”  

“โดยหลังจากที่สมรักษ์คว้าเหรียญทองมวยสากลสมัครเล่นชิงแชมป์ประเทศไทยรุ่น 57 กิโลกรัม ชนะคะแนน สานิตย์ สมเนตร หรือ สรรเพชร ลูกรังสี ที่อาคารกีฬานิมิบุตร” 

“พอรับเหรียญเรียบร้อยก็รีบนั่งรถมอเตอร์ไซค์วินบึ่งมาเวทีราชดำเนินเพื่อชกคู่เอกกับฉมวกเพชร พ่อบานไม่รู้โรย วัย 30 ปีที่แก่กว่ากันถึง 11 ปี สมรักษ์จึงใช้ความหนุ่มแน่นดักเตะถีบอยู่วงนอกเอาชนะคะแนนไปเมื่อชกกันครบ 5 ยก”
 
“แต่หลังได้รับการชูมือ ฉมวกเพชร เดินชิว ๆ ไปปลดกระจับซับเหงื่อ ขณะที่สมรักษ์ต้องให้พี่เลี้ยงประคองปีกลงมานั่งหอบตัวโยนทำท่าจะเป็นลม กลายเป็นคู่มวยประวัติศาสตร์ที่ได้รับคำชมทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ” 
 
ในช่วงบั้นปลายอาชีพนักมวยไทย ฉมวกเพชรปรับสไตล์กลายมาเป็นมวยฝีมือที่ใช้สมองมากขึ้น จึงได้อีกสมญานามว่า พ่อบานไม่รู้โรย กล่าวคือ ถึงจะมีวัยเข้าเลข 3 แต่ใครก็เอาชนะเขายาก

“มีหลายคนกล่าวกันว่า ฉมวกเพชร ห้าพลัง เป็นยอดมวยมหัศจรรย์ที่หาได้ยากยิ่งในเมืองไทย จากเดิมที่เป็นมวยเข่าใช้แต่พละกำลัง พอเจอคู่ต่อสู้เก่ง ๆ เขาก็ปรับวิธีการชกมาเป็นมวยเข่าที่มีแบบแผน ใช้สมองเติมเข้าไปในความแข็งแกร่งจนกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัว นั่นคือกลายเป็นมวยเข่าที่ไม่ใช้แรงพร่ำเพรื่อ จนได้ฉายาว่า ขุนเข่าคอมพิวเตอร์” 

“และด้วยความที่เก่งเกินพิกัดทำให้ต้องข้ามรุ่นหรือปล่อยน้ำหนักขึ้นไปปะทะกับตัวใหญ่อยู่เป็นประจำ ทำให้เขาต้องปรับวิธีการชกมาเป็นมวยจังหวะฝีมือ ฉมวกเพชรจึงกลายเป็นยอดมวยเข่าที่มีลูกเตะและถีบซ้ายที่ฉกาจฉกรรจ์ ว่ากันว่าลูกถีบของฉมวกเพชรไม่เป็นรองใครในปฐพี”

“แม้ว่า ฉมวกเพชร ห้าพลัง จะแขวนนวมไปเป็นเวลา 23 ปีแล้ว แต่ชื่อเสียงของเขายังคงถูกจารึกไว้ในความทรงจำของแฟนมวย ในฐานะตำนานนักชกที่ยังมีลมหายใจของสนามมวยเวทีราชดำเนินอยู่มิเสื่อมคลาย” ธรรมธร บุตรเพ็ง สื่อมวลชนอาวุโสสายมวย กล่าวทิ้งท้ายถึงตำนานบทนี้ 

Author

ทัศนะเทพ รัตนจันทา

Muay Thai Stand's writer - มวยไทยสแตนด์ สังเวียนที่ทำให้คุณอยู่ใกล้มวยไทย

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา