Feature

ตำนานพิสดาร : “จูลส์ ริเมต์” ถ้วยรางวัลที่หล่อหลอมโลกทั้งใบให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ด้วยฟุตบอล

“ถ้วยแชมป์โลก” เป็นความฝันสูงสุดของนักฟุตบอลเกือบทุกคน แต่ใช่ว่าใครก็สามารถครอบครองกันได้ง่าย ๆ แม้แต่นักฟุตบอลผู้เต็มไปด้วยพรสวรรค์หรือเฮดโค้ชสมองเพชรระดับอัจฉริยะก็ไม่อาจเข้าใจความรู้สึกของการได้สัมผัสถ้วยแชมป์โลกสักครั้งในชีวิต ดังนั้นถ้วยแชมป์โลกจึงเปรียบได้กับสิ่งล้ำค่าที่ยากจะหาสิ่งใดมาเทียบได้

 


“จูลส์ ริเมต์” คือโทรฟี่ใบแรกที่ถูกสร้างขึ้นโดยสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ “ฟีฟ่า” อย่างไรก็ดี ถ้วยใบนี้ไม่ค่อยเป็นที่กล่าวถึงมากนัก ทั้งที่เต็มไปด้วยเรื่องราวอันน่าจดจำในโลกฟุตบอลอย่างมากมาย มันหล่อหลอมให้โลกทั้งใบเป็นหนึ่งเดียวกันได้จากการแข่งขันฟุตบอลโลกถึง 9 ครั้ง (1930-1970) ก่อนจะสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย ทิ้งไว้เพียงประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ที่โลกต้องจารึกไว้ตลอดกาล

Main Stand จึงขอพาท่านย้อนไปทำความรู้จักกับตำนานสุดแปลกพิสดารของ จูลส์ ริเมต์ หนึ่งในถ้วยฟุตบอลที่น่าจดจำที่สุดในโลกฟุตบอล ติดตามได้ที่นี่

 

กำเนิดท่ามกลางความขัดแย้ง

หลังจากมีการแข่งขันฟุตบอลในระดับนานาชาติขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1872 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ซึ่งเป็นการแข่งแบบมือสมัครเล่น ความไร้ระเบียบของการแข่งขันจึงเกิดขึ้น

ด้วยเหตุนี้ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ “ฟีฟ่า” จึงถือกำเนิดขึ้นในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 1904 เพื่อจัดการแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติให้เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น

ต่อมาในปี 1928 ไฟแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เริ่มระอุ และเป็นปีเดียวกับที่ “จูลส์ ริเมต์” (Jules Rimet) ประธานฟีฟ่าคนที่ 3 ชาวฝรั่งเศส ได้ประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า มีความต้องการอยากผลักดันให้เกิดการแข่งขันฟุตบอลนานาชาติ “ในระดับอาชีพ” ขึ้นอย่างจริงจัง

ความแข็งกร้าวของ จูลส์ ริเมต์ สร้างความไม่พอใจให้แก่ฝ่ายที่เห็นต่างอย่างมาก โดยเฉพาะ “ปิแอร์ เดอ กูแบร์แต็ง” (Pierre de Coubertin) บิดาแห่งกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ และเหล่านักเตะสมัครเล่นฝ่ายทหารชาวฝรั่งเศสที่ไม่ต้องการแข่งขันร่วมกับสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ซึ่งถือว่าเป็นศัตรูทางการเมืองโดยตรง

จูลส์ ริเมต์ เป็นคนที่พยายามก้าวข้ามความขัดแย้งเหล่านี้ เขามองว่าสิ่งเดียวที่ช่วยหยุดสงครามได้คือต้องใช้เกมกีฬาทลายช่องว่างระหว่างชนชั้นของสังคม แต่อุปสรรคของแนวคิดนี้คือผู้คนในยุคนั้นต่างมองว่าฟุตบอลเป็นกีฬาสำหรับของคนต่ำต้อยเพียงเท่านั้น

แม้ริเมต์จะไม่เคยเล่นฟุตบอลมาก่อน แต่เขารู้ดีว่ากีฬาฟุตบอลนั้นสวยงามเพียงใด ในวันที่ 28 พฤษภาคม 1928 ณ ที่ประชุมฟีฟ่า กรุงอัมสเตอร์ดัม ภายใต้การนำของ จูล ริเมต์ มีมติเห็นพ้องว่าพวกเขาจะจัดการแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติด้วยตนเอง โดยมี ประเทศอุรุกวัย เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งแรกในปี 1930 ซึ่งถือเป็นการครบรอบหนึ่งศตวรรษการได้รับเอกราชของอุรุกวัย

แน่นอนว่าเมื่อการแข่งขันเริ่มขึ้น สิ่งที่ขาดไม่ได้คือรางวัลสำหรับผู้ชนะ ถ้วยฟุตบอลโลกถ้วยแรก จึงได้กำเนิดขึ้นในช่วงเวลานี้เอง โดยใช้ชื่อว่า “วิกตอรี” (Victory) มีเทพี “ไนกี้” (Nike) เทพีแห่งชัยชนะจากปกรณัมกรีก เป็นสัญลักษณ์ประจำถ้วย

 

ถูกซ่อนอยู่ในกล่องรองเท้า

“อเบล ลาเฟลอร์” (Abel Lafleur) ประติมากรชาวฝรั่งเศส ได้ออกแบบโทรฟี่ใบนี้ให้สูง 35 เซนติเมตร หนัก 3.8 กิโลกรัม โดยใช้แร่เงินบริสุทธิ์ 92.5% ควบคู่กับโลหะอื่น ๆ 7.5% ตั้งตระหง่านอย่างมั่นคงบนฐานหินลาพิส ลาซูลี ซึ่งประกอบด้วยแร่สำคัญคือ ไพไรท์, คาลไซท์, และลาซูไรท์ ก่อนจะนำส่วนบนของถ้วยไปชุบสีทองให้ดูงามสง่าสมกับเป็นรางวัลของผู้ชนะ

โทรฟี่ วิกตอรี จะถูกมอบให้แก่ทีมที่ได้แชมป์ฟุตบอลโลกในทัวร์นาเมนต์นั้น เพื่อนำไปจัดแสดงในชาติของตนเป็นเวลา 4 ปี ก่อนจะต้องส่งมอบคืนให้กับฟีฟ่า เพื่อส่งต่อให้ชาติผู้ชนะได้จัดแสดงในชาติของตนต่อไป

โดยชาติแรกที่ได้ครอบครองถ้วยวิกตอรีได้แก่ ประเทศอุรุกวัย ซึ่งชนะในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรกในปี 1930 ท่ามกลางผู้ชมกว่า 93,000 คน ณ เอสตาดิโอ เซนเตนาริโอ (Estadio Centenario) จึงกล่าวได้ว่าเป็นการฉลองวันครบรอบหนึ่งศตวรรษเอกราชของประเทศได้อย่างสมภาคภูมิอีกด้วย

อย่างไรก็ดีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ตั้งแต่ปี 1939 ถึง 1945) โทรฟี่ใบนี้ถูกครอบครองโดยอิตาลี ซึ่งเป็นแชมป์โลก 2 สมัยซ้อน (ปี 1934 และ 1938) และเริ่มสั่นคลอนเป็นครั้งแรก เนื่องจากสงครามโลกคุกรุ่นปะทุรุนแรงไปทั่วทุกมุมโลก มีการรื้อค้นบ้านพักประชาชนโดยทหารนาซีชนิดไม่เว้นหน้า

“ออตโตรีโน บาราสซี่” (Ottorino Barassi) รองประธานฟีฟ่าในขณะนั้น ตัดสินใจนำถ้วยใบนี้ออกจากตู้เซฟธนาคารในกรุงโรมอย่างลับ ๆ แล้วซ่อนเอาไว้ในกล่องรองเท้าที่อยู่ใต้เตียงของเขา กระทั่งสงครามเริ่มซาลงจึงได้นำออกมาจัดแสดงอีกครั้งหนึ่ง

 

ถูกขโมยกลางวันแสก ๆ ก่อนสูญหายไปตลอดกาล

โทรฟี่ วิกตอรี ถูกเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการว่า “คูป จูลส์ ริเมต์” (Coupe Jules Rimet) เพื่อเป็นเกียรติแก่อดีตประธานฟีฟ่า จูลส์ ริเมต์ ผู้ซึ่งผลักดันอย่างเพียรพยายามให้เกิดฟุตบอลโลกครั้งแรกขึ้น และยังเป็นผู้รับใช้วงการลูกหนังยาวนานที่สุดถึง 33 ปี (ช่วงปี 1921-1954) รวมทั้งเป็นผู้มอบหมายให้จัดทำถ้วยฟุตบอลโลกใบนี้ขึ้นมาอีกด้วย

โทรฟี่จูลส์ ริเมต์ เริ่มเป็นที่รู้จักและโด่งดังอย่างรวดเร็ว มันผ่านเรื่องราวอย่างมากมายทำให้มีมนต์ขลังอันแปลกพิสดารที่สามารถดึงดูดผู้คนให้ต้องการเข้ามาครอบครองโทรฟี่แห่งชัยชนะใบนี้ให้ได้

นอกจากสมาชิกฟีฟ่าจำนวนเพียงไม่กี่คนแล้วก็มีผู้บริหารประเทศและนักฟุตบอลทีมที่ชนะเลิศเท่านั้นที่มีโอกาสได้สัมผัสกับถ้วยรางวัลใบนี้ ซึ่งข้อมูลจากฟีฟ่าระบุว่ามีเพียง 220 คนเท่านั้นที่ได้สัมผัสโทรฟี่ใบนี้จริง ๆ

เมื่อเป็นสิ่งล้ำค่าต่อโลกมากขนาดนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มันจะถูกขโมยไปถึง 2 ครั้ง 2 คราวติดต่อกัน

ครั้งแรก เกิดขึ้น 4 เดือนก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลก 1966 ที่ประเทศอังกฤษเป็นเจ้าภาพ จูลส์ ริเมต์ ถูกนำมาจัดแสดง ณ หอกลางเวสต์มินส์เตอร์ (Westminster Hall) ซึ่งมีการออกข่าวไปทั่วราชอาณาจักร และถูกคาดการณ์กันว่ามูลค่าของถ้วยใบนี้สูงถึง 30,000 ปอนด์ (ราว 1.2 ล้านบาท)

แต่แล้วจู่ ๆ ถ้วยรางวัลใบนี้กลับหายไปกลางวันแสก ๆ  จนตำรวจสกอตแลนด์ยาร์ดต้องหัวหมุนกับการค้นหาไปทั่วทั้งเมือง

ขณะที่ทางตำรวจกำลังเร่งค้นหาอยู่นั้นก็ได้รับจดหมายจากชายที่อ้างชื่อว่า “แจ็คสัน” (Jackson) ระบุเนื้อความว่า หากต้องการถ้วยรางวัลกลับคืน ต้องนำเงิน 15,000 ปอนด์มาแลกหน้าสนามกีฬาสแตมฟอร์ดบริดจ์ สังเวียนฟาดแข้งของสโมสรเชลซี

ทางตำรวจไม่รอช้ารีบรุดไปยังสถานที่นัดหมายทันที และวางแผนล่อซื้อแจ็คสันด้วยเงินปลอมก่อนเข้าจับกุมและให้เขาช่วยนำไปยังแหล่งที่ซุกซ่อนถ้วยไว้

แต่การเข้าจับกุมในครั้งนี้ทางตำรวจกลับได้รับคำสารภาพที่ทำให้มึนงงหนักขึ้นกว่าเดิม เพราะแจ็คสันไม่ได้เป็นคนขโมย เขาเป็นเพียงคนกลางให้กับชายคนหนึ่งที่มีสมญาว่า “The Pole”

แจ็คสัน ซึ่งทราบชื่อในภายหลังว่าคือ เอ็ดเวิร์ด เบตช์ลีย์ (Edward Betchley) ถูกตัดสินจำคุกสองปี ในขณะที่ตำรวจยังไม่สามารถตามรอยชายที่ใช้สมญาว่า The Pole ได้ แน่นอนว่าถ้วยจูลส์ ริเมต์ ยังคงหายไปกับอย่างลึกลับ และไม่มีวี่แววว่าจะได้กลับคืนมา

แต่สิ่งที่แปลกพิสดารมากกว่านั้นคือเพียง 1 สัปดาห์หลังจากตำรวจกำลังวุ่นกับการตามหาถ้วยจูลส์ ริเมต์ ที่หายไป ถ้วยฟุตบอลโลกใบนี้ก็ถูกพบอยู่ในห่อกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ซ่อนในพุ่มไม้ โดยเจ้า “พิคเคิลส์” (Pickles) สุนัขวัย 4 ขวบของนักเดินเรือนาม “เดวิด คอร์เบตต์” (David Corbett) จนได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษของชาติในเวลาต่อมา

แต่กระนั้นโทรฟี่แห่งความทรงจำนี้กลับสูญหายไปตลอดกาลที่ดินแดนแซมบ้า หลังจากที่บราซิลเป็นชาติแรกที่สามารถคว้าแชมป์โลกมาครองเป็นสมัยที่ 3 ได้สำเร็จในปี 1970 และได้รับสิทธิ์ถือครองถ้วยจูลส์ ริเมต์ ไปอย่างถาวร

จูลส์ ริเมต์ ได้ถูกจัดแสดงอย่างดี ณ สำนักงานสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งบราซิล เมืองริโอ เดอ จาเนโร แต่ในปี 1983 ถ้วยใบนี้กลับสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย

ตำรวจบราซิลไม่อาจค้นหาผู้กระทำความผิดได้ บ้างว่าถูกขโมย บ้างก็ว่าถูกหลอมขายไปจนหมดแล้ว แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามการหายไปของถ้วยจูลส์ ริเมต์ นั้นยังคงเป็นปริศนาที่ไม่อาจหาคำตอบได้มาจนถึงทุกวันนี้

 

แม้สูญหาย แต่ยิ่งใหญ่เกินกว่าจะถูกลืม

การเกิดขึ้นของถ้วย จูลส์ ริเมต์ ได้สร้างความทรงจำที่มีความหมายในโลกฟุตบอลอย่างมากมาย

ถ้วยใบนี้ผ่านเรื่องราวมาสารพัด มันจึงเป็นมากกว่ารางวัลสำหรับผู้ชนะ แต่มันได้ทำหน้าที่เชื่อมโลกทั้งใบให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ด้วยฟุตบอล

มิต่างจากนาย จูลส์ ริเมต์ ชายผู้เปลี่ยนแปลงโลกได้โดยไม่ต้องใช้อาวุธ ความรุนแรง หรืออำนาจทางการเงิน เขามีเพียงโทรฟี่ใบเล็ก ๆ กับความฝันและความเชื่อว่าโทรฟี่ของเขาจะสามารถทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างแน่นอน

อำนาจแห่งความเชื่อนั้นสัมฤทธิ์ผลในทันที เพราะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟุตบอลโลกได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความสันติสุขอย่างแท้จริง โดยสังเกตได้จากที่ประเทศสหราชอาณาจักรตัดสินใจส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 1950 ที่ประเทศบราซิล

แม้ว่าจูลส์ ริเมต์ ทั้งสองจะไม่มีตัวตนอยู่ในโลกของเราแล้ว แต่พวกเขาสมควรถูกจดจำไปตลอดกาล ในฐานะของผู้ทำให้ฟุตบอลกลายเป็นกีฬาของคนทุกชน ทุกชาติ ทุกสีผิว และทุกเผ่าพันธุ์ ซึ่งหล่อหลอมให้โลกทั้งใบเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างงดงามและยิ่งใหญ่ ชนิดที่ยากจะหาสิ่งใดมาเปรียบเทียบได้อีก

 

แหล่งอ้างอิง

Utathya Nag.(2022). FIFA World Cup trophy: Lost and found - history and evolution of the most coveted prize in football. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://olympics.com/en/news/fifa-world-cup-trophy-jules-rimet-history
AIDAN WILLIAMS.(2019). JULES RIMET: THE CATHOLIC VISIONARY WHO FOUNDED THE WORLD CUP. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://thesefootballtimes.co/2019/02/12/jules-rimet-the-catholic-visionary-who-founded-the-world-cup/
naewna.com.(2561).เปิดตำนานถ้วยฟุตบอลโลก! จาก 'จูลส์ ริเมต์' สู่ฟีฟ่าเวิลด์คัพ 2018 : https://www.naewna.com/sport/340236
เมธา พันธุ์วราทร.(2561).ชูลส์ ริเมต์ ผู้ให้กำเนิดฟุตบอลโลก แต่ในชีวิตไม่เคยเตะฟุตบอล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://thestandard.co/jules-rimet-the-world-cup-founder/ 

Author

ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด

Main Stand's author

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

ชื่นชอบกีฬาฟุตบอล แต่ตอนนี้หลงไหล " ว่าย ปั่น วิ่ง "

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ