Feature

ด้ามขวานขาด !!! : ทำไมฟุตบอลไทยลีก 1 ไม่มีทีมจากภาคใต้ | Ball Thai Stand

สโมสรในฟุตบอลไทยลีก 1 หรือ “รีโว ไทยลีก”​ กระจายอยู่เกือบทุกภาคของแดนสยาม แต่ละทีมสร้างความภาคภูมิใจให้แฟนบอลในดินแดนของตัวเอง โดยเฉพาะยามคว้าแชมป์ไทยลีก ไล่ตั้งแต่ภาคเหนือมี ลีโอ เชียงราย ยูไนเต็ด ส่งเข้าประกวด 

 

ภาคอีสานมี บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เป็นแชมป์ขาประจำ ภาคกลางไล่ตั้งแต่อดีตอย่าง ธนาคารกรุงเทพ, ธนคารกรุงไทย, พนักงานยาสูบ, สินธนา, ทหารอากาศ, ม.กรุงเทพ, บีอีซี เทโรศาสน (เดิม), เมืองทอง ยูไนเต็ด ล่าสุดเป็นคิวของ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด หรือแม้แต่ภาคตะวันออกยังมี ชลบุรี สอดแทรกก้าวมาเป็นแชมป์สูงสุดของวงการลูกหนังไทย

แต่หันไปมองปลายด้ามขวานของไทยอย่าว่าแต่ทีมแชมป์เลย ปัจจุบันยังไม่มีทีมจากภาคใต้ร่วมสังคายนาแข้งในลีกสูงสุดมาตั้งแต่ปี 2014 แล้วทำไมทีมจากภาคใต้หายจากวงจรลีกสูงสุดไปนานเหลือเกิน ไปติดตามกับ BallThaiStand 

 

สงขลา ยูไนเต็ด ทีมสุดท้ายจากภาคใต้ที่เคยโลดแล่นในไทยลีก


ฟุตบอลจากแดนใต้สวนใหญ่จะวนเวียนอยู่ในลีกรองเป็นหลัก อย่างในปัจจุบันในศึก เอ็ม-150 แชมเปี้ยนส์ชิพ หรือ ไทยลีก 2 มีสมาชิกจากภาคใต้อย่าง กระบี่, นครศรี ยูไนเต็ด และล่าสุดน้องใหม่ที่เพิ่งเลื่อนชั้นจาก ไทยลีก 3 อย่าง เอ็มเอช นครศรี ซิตี้ 

แต่ในลีกสูงสุดหรือ “รีโวไทยลีก” กลับไม่มีทีมจากภาคใต้เลย โดยทีมสุดท้ายที่โลดแล่นคอยเชิดหน้าชูตาให้คอลูกหนังจากปลายด้ามขวานของไทยคือ “สงขลา ยูไนเต็ด” 

ก่อนหน้านี้สิทธิ์ของทีมเป็นของ “บุรีรัมย์” ก่อนจะถูกซื้อสิทธิ์มาโดย “นิพนธ์ บุญญามณี” ประธานสโมสร แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัวชน ยูไนเต็ด” ลงเล่นในไทยลีก 1 ในปี 2012 พร้อมกับขุมกำลังนักเตะจากทีม บุรีรัมย์, ชลบุรี และ สงขลา อาทิ เนย์ ฟาเบียนโน อดีตกองหน้าดาวซัลโวไทยลีก

พร้อมด้วย ไกรเกียรติ เบียดตะคุ, โคเน เซย์ดู, ภูริทัต จาริกานนท์, ไชยรัตน์ หมัดศิริ, อาทิตย์ สุนทรพิธ และ กีรติ เขียวสมบัติ มีกุนซือมากประสบการณ์อย่าง จเด็จ มีลาภ คุมทัพ ปีนั้นทีมจบอันดับ 13 ของตาราง

ในฤดูกาลต่อมา “วัวชน ยูไนเต็ด” ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สงขลา ยูไนเต็ด” ลงเล่นในลีกสูงสุด สามารถจบอันดับ 12 ของตาราง จนมาถึงฤดูกาล 2014 เป็นฤดูกาลแรกที่ปรับเอาทีมตกชั้น 5 ทีม ซึ่ง “วัวชนแดนใต้” ไม่สามารถต้านทานความเคี่ยวของ เสือ สิง กระทิง แรด ได้ กลายเป็น 1 ใน 5 ทีมสุดท้ายที่ตกชั้น ด้วยผลงานชนะ 8 นัด เสมอ 8 นัด และแพ้ 22 นัด จาก 38 เกม จากนั้นไม่มีทีมจากภาคใต้เลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุดอีกเลยจนถึงปัจจุบัน 

 

ดินแดนแห่งความบ้าฟุตบอล 

 

นักเตะจากแดนใต้ต้องบอกว่าฝีเท้าไม่เป็นรองใคร นักเตะจากดินแดนปลายด้ามขวานไทย ต่างสร้างชื่อเสียงในวงการฟุตบอลและก้าวไปติดทีมชาติไทย ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น วรวุธ ศรีมะฆะ, สุเมธ อัครพงศ์​, ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล, สมพงษ์ วัฒนา, เจษฏาภรณ์ ณ พัทลุง,โชคทวี พรหมรัตน์, สระราวุฒิ ตรีพันธ์, เอกพันธ์ อินทเสน, ศุภชัย คมศิลป์, เอกชัย สำเร และ ศุภชัย ใจเด็ด ฯลน

แน่นอนว่าดินแดนแห่งนี้อัดแน่นไปด้วยนักเตะพรสวรรค์สูง ที่สำคัญมีความบ้าลูกหนังเข้าเส้นเลือด แม้ว่าภูมิอากาศของที่นี่จะถูกเรียกว่า “ฝนแปดแดดสี่” แต่ไม่สามารถหยุดความต้องการของวัยรุ่นในพื้นที่ออกมาหวดลูกหนังได้

เอกชัย สำเร แบ็คขวาเลือดเนื้อเชื้อไขชาวสตูลของ “โปลิศ เทโร” ได้เปิดเผยถึง “นักเตะใต้ถือว่าบ้าบอลเลย ผมคิดว่านักเตะใต้มีพรสวรรค์เยอะ เก่งๆ เยอะมาก ขนาดฝนตกยังไงเขาก็ออกมาเล่นบอลกัน”

“ยิ่งมีแข่งขันเขาจะเหมารถไปชมเกมที่สนามเลย แต่มองไปที่อาชีพบางคนเขาก็เลือกไปประกอบอาชีพอื่น ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร อย่างรุ่นผม ผมถือว่าฝีเท้าระดับท้ายๆ ของรุ่นเลยนะ แต่เชื่อไหมเหลือผมคนเดียวที่เป็นนักฟุตบอลบอล”

“ชุดผม สตูล ได้แชมป์ไนกี้ พรีเมียร์คัพ ผมนี่ตัวสำรองอันดับ 12-13 เลยได้ติดร่างแหเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ เรียนได้ปีสองปี เพื่อนๆ เขาก็มองหาไปสายอาชีพอื่นทิ้งเรื่องการเป็นนักฟุตบอลไปเลย” 

“เรื่องศาสนา ผมว่าไม่เกี่ยวเท่าไหร่ เพราะนักฟุตบอลที่นับถืออิสลามสามารถปรับตัวได้ ผมไปอยู่ บุรีรัมย์ ก็ไม่มีปัญหาอะไร”

 

บุคลากรไม่มากพอที่จะยกระดับฟุตบอลให้ไปข้างหน้าได้

ปัจจุบันหมดยุคของ “โค้ชคนเดียว” ทำได้ทุกอย่างแล้ว เพราะการทำทีมฟุตบอลต้องมีการแบ่งหน้าที่ชัดเจน และศาสตร์บางอย่างต้องมีคนที่มีความรู้เฉพาะด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่อง โภชนาการ หรือ เรื่องฟิตเนส สร้างความฟิตให้กับนักกีฬา

แต่ปัจจุบันบุคลากรด้านลูกหนังของภาคใต้ไม่ได้มีมากมาย ส่วนใหญ่คนที่มีความรู้ความสามารถก็จะเดินทางไปหางานตามสโมสรในกรุงเทพฯ ทำให้บุคลากรไม่เพียงพอในการช่วยพัฒนาศักยภาพเด็กในท้องถิ่น 

 อ.สันติ สุวรรณกิจ กัปตันทีมยามาฮ่าไทยแลนด์ คัพ จ.สตูล กล่าวเสริมว่า “ปัจจัยหลักๆ เลย เราไม่มีนายทุนที่บ้าและพร้อมทุ่มเงินทำทีมฟุตบอล ปัจจุบันค่าเหนื่อย ค่าตัวนักเตะแพงมาก จำเป็นต้องใช้เงินทุนสูง”

“อีกปัจจัยคือบุคลากรของเรายังน้อย ฟุตบอลปัจจุบันให้โค้ชคนเดียวทำทุกอย่างไม่ได้แล้ว ต้องมี เฮดโค้ช ผู้ฝึกสอน โค้ชผู้รักษาประตู อีกอย่างพวกหัวกะทิส่วนใหญ่ก็เข้าไปทำงานกับสโมสรในกรุงเทพฯ หมดแล้วครับ”

 


นักเตะส่วนใหญ่ สไตล์ดุดัน ไม่เกรงใจใคร แต่ชอบบรรยากาศชิวๆ 

ในโลกฟุตบอลที่หมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว หลายทีมพยายามสร้างฟุตบอลสไตล์สวยงาม เน้นเกมรุกสร้างความสนุกตื่นเต้นให้กับแฟนบอลที่เข้ามาชมเกมในสนามหรือชมการถ่ายทอดสดอยู่ทางบ้าน แต่หลายสโมสรในภาคใต้ยังคงเล่นสไตล์ดุดัน ไม่เกรงใจใคร จนบางครั้งส่งผลเสียต่อทีม นี่อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ทีมไม่สามารถประสบความสำเร็จในระดับสูง

“โค้ชอู๊ด” สระราวุฒิ ตรีพันธ์ อดีตกุนซือทีมสงขลา ในไทยลีก 3 เปิดเผยว่า “ผมว่าส่วนหนึ่งทำให้ฟุตบอลใต้ไม่ประสบความสำเร็จ จากประสบการณ์ของผมเลยคือนักเตะยังคงหัวร้อนง่าย และยังเล่นหนัก”

“นักเตะหลายคนฝีเท้าดีเลย เก่ง เล่นทีมชาติระดับเยาวชนได้สบายเลย แต่พวกเขาโดนยั่วยุทีไรหัวร้อนและเล่นนอกเกมทุกที ตอนผมคุมทีมอยู่ผมพยายามบอกเขาว่าให้ใจเย็นๆ มีสมาธิ ซึ่งก็ดีขึ้น แต่มันก็ยังมีอยู่เรื่อยๆ”

“ผมว่านักบอลใต้คล้ายๆ นักบอลบราซิล คือเก่ง แต่มีความรักเพื่อน ชอบอยู่เป็นกลุ่ม มีความชิลล์ หากไปเล่นยังต่างถิ่นมักจะมีความคิดถึงบ้าน ทำให้สุดท้ายก็ไปไหนไม่ได้ไกล” 

“ตอนผมเป็นนักเตะ ขึ้นไปอยู่กรุงเทพฯ แรกๆ ก็เป็น แต่ผมพยายามปรับตัว แต่กว่าจะปรับตัวได้นี่นานเหมือนกัน ผมคิดว่า 2 อย่างนี้มีส่วนทำให้นักฟุตบอลและทีมทางภาคใต้ยังไม่ประสบความสำเร็จ”

 


จุดภูมิศาสตร์และนายทุนไม่เยอะ ทำให้ขาดแรงขับเคลื่อน 

ในโลกฟุตบอลที่กลายเป็นธุรกิจเต็มตัว ทำให้ “เงิน” กลายเป็นปัจจุบันสำคัญในการพัฒนาลูกหนังให้ก้าวไปข้างหน้า หลายสโมสรที่ประสบความสำเร็จต่างทุ่มเงินทำทีมหลัก 100-200 ล้านต่อปีในการทำทีม 

“โกฉวน" สมเกียรติ กิตติธรกุล ประธานสโมสรกระบี่ ซึ่งพาทีมผ่านอุปสรรคมากมายและเคยถึงประกาศพักทีมไม่ส่งแข่งขัน เนื่องจากไม่มีเงินสนับสนุน 

แต่ปัจจุบันสามารถพา “อินทรีอันดามัน” ยืนยืดอกโลดแล่นอยู่ในไทยลีก 2 สำเร็จ ได้เปิดเผยว่า “การทำทีมต้องใช้เงินเยอะ ต้องบอกว่าในภาคใต้ธุรกิจมันไม่ได้เยอะ ทำให้ขาดคนมาลงทุน พอมีคนมาลงทุนบางทีก็สู้ไม่ไหว เพราะการทำทีมฟุตบอลมันต้องใช้เงินเยอะมาก”

“ทำทีมฟุตบอลแบบจริงจังไม่ใช่แค่ทีมชุดใหญ่ แต่ยังมีเรื่องของการทำเยาวชน แต่เยาวชนเกรดเอ เก่งๆ ส่วนใหญ่ก็โดนทีมใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ ดึงตัวไป ทำให้เด็กในพื้นที่เราไม่มีตัวดีๆ แต่มันก็เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ เพราะเขามีเงิน มีการออกค่าเรียน ค่าอยู่กินให้ ความเป็นอยู่ก็สบายขึ้น”

“การไปเยือนบางทีเราไปเล่นที่กรุงเทพฯ ก็มีปัญหาอีก เพราะเที่ยวบินมีน้อย ทีมอื่นเขาไปล่วงหน้าวันเดียว ได้ซ้อมได้ปรับตัว แต่เราไปเยือนบางทีต้องใช้ไปก่อนล่วงหน้าสองวัน ค่าใช้จ่ายมันก็เพิ่มขึ้น บางทีก็แบกไม่ไหว”

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการเดินทาง เพราะระยะทางแต่ละจังหวัดค่อนข้างห่างกัน ตัวเลือกในการเดินทางมีน้อย นอกจากนี้การอยู่กินอาจจะไม่สะดวกสบายเหมือนภาคอื่นทำให้การดึงดูดนักเตะฝีเท้าดีให้มาค้าแข้งเป็นเรื่องยาก

“การเดินทางถือว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยของคนใต้หรือนักเตะต่างชาติ เพราะคนใต้เองก็ไม่อยากย้ายไปอยู่ต่างถิ่น การเดินทางก็ยาก ดูอย่างภาคกลางเดินทางไปแต่ละที่ใช้เวลาไม่นาน หากจะเดินทางจากใต้ อย่างกระบี่ไปกรุงเทพฯ ไฟท์บินก็น้อยอีก ส่วนนักเตะต่างชาติเองก็อยู่ยาก เพราะบรรยากาศไม่ได้หลากหลายเหมือนกับกรุงเทพฯ” 

การที่จะเห็นทีมฟุตบอลจากแดนใต้เลื่อนชั้นมาเล่นในลีกสูงสุดถือว่าเป็นเรื่องยากไม่น้อย เพราะปัจจัยที่เหนี่ยวรั้งไว้เยอะเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงิน การเดินทาง และบรรยากาศที่ยากที่จะปรับตัว

แต่ก็หวังลึกๆ ว่าสักวันฟุตบอลจากดินแดนปลายด้ามขวานของไทย จะกลับมายิ่งใหญ่และสร้างสีสันในลีกสูงสุดได้อีกครั้ง 

Author

ศุภฤกษ์ สีทองเขียว

หนุ่มแดนหมอแคน ผู้คลั่งไคล้ในฟุตบอล

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น