Feature

สู้ยิบตากว่าจะมาเป็น ชานุกูล ก๋ารินทร์ แข้งป้ายแดงคนใหม่ของทีมชาติไทย | Ball Thai Stand

ก่อนประกาศรายชื่อนักเตะทีมชาติไทยทำศึกแต่ละรายการ แฟนบอลไทยมักลุ้นให้มีแข้งหน้าใหม่ตบเท้าเข้ามาติดทัพ “ช้างศึก” เสมอ 

 

เช่นเดียวกันกับแมตช์อุ่นเครื่องฟีฟ่า เดย์ ยกแรกของปี 2023 ที่ทีมชาติไทยเตรียมยกพลบุกดินแดนทะเลทราย ดวลแข้งกับ ซีเรีย และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในวันที่ 25 และ 28 มีนาคมนี้ ได้มีแข้งหน้าใหม่มีชื่อติดธงเป็นครั้งแรก นั่นคือ “ไนท์” ชานุกูล ก๋ารินทร์ กองกลางจาก โปลิศ​ เทโร 

จากนักเตะโนเนมที่แฟนบอลไทยไม่คุ้นชื่อ แต่สามารถทำผลงานก้าวกระโดดภายใน 2 ปี และมีชื่อติดทีมชาติไทย เป็นครั้งแรก แล้ว ชานุกูล เป็นใคร เส้นทางลูกหนังของเขาหน้าสนใจแค่ไหน ไปติดตามกับ BallThaiStand 


เรียนศาสตร์ลูกหนังแซมบ้า

ชานุกูล ก๋ารินทร์ เกิดในครอบครัวเกษตรกร ทำสวนปลูกลำไย ที่ อ.ขุนตาล จ.เชียงราย เขาเป็นบุตรคนที่ 2 มีพี่ชาย 1 คน ปัจจุบันรับราชการตำรวจ 

โดยชีวิตของ ชานุกูล ไม่ต่างจากเด็กผู้ชายต่างจังหวัดทั่วไปที่อุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้กับกีฬา ไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอล,ปิงปอง หรือกีฑา แต่ฟุตบอลคือกีฬาเบอร์ 1 ในใจเขา ส่วนหนึ่งเพราะได้อิทธิพลมาจากพี่ชายที่ติดตามเชียร์และชื่นชอบฟุตบอลไทยและต่างประเทศ ตำแหน่งแรกที่เล่นคือ กองหน้า 

เมื่ออายุ 13 ปี ชานุกูล มีความตั้งใจที่จะเดินทางสายฟุตบอลอาชีพเต็มตัว ด้วยการย้ายจากโรงเรียนใน อ.ขุนตาล ไปเรียนต่อในระดับมัธยมต้นในตัวจังหวัด ที่โรงเรียน อบจ. เชียงราย ซึ่งเป็นโรงเรียนกึ่งโรงเรียนกีฬา

ที่นี่เขาได้รับการฝึกฝนฟุตบอลและเปลี่ยนจากกองหน้ามาเล่นเป็นกองกลาง จนอายุ 15 ปี จึงอยากหาท้าทายใหม่ ด้วยการเข้าไปเรียนต่อในเมืองหลวงกับโรงเรียนอัสสัมชัญ ธนบุรี แต่ว่าโดน “โค้ชอาร์ท” สาวิน จรัสเพชรานันท์ ผู้ช่วยผู้ฝึกสอนทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยคนปัจจุบัน ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้จัดการอคาเดมี ลีโอ เชียงราย ยูไนเต็ด ติดเบรคเอาไว้ 

ชานุกูล ได้เล่าถึงสารตั้งต้นในการก้าวสู่เส้นทางฟุตบอลอาชีพว่า “ตอนนั้น ลีโอ เชียงราย ยูไนเต็ด เขาจะทำอคาเดมี ซึ่งสโมสรเคยเห็นฟอร์มของผมตอนไปคัดเลือกตัวทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 16 ปี ซึ่งเขาเปิดคัดเลือกที่ จ. เชียงราย”

“เขาเรียกผมไปคุยเพื่อจะให้มาเซ็นสัญญา แต่ผมอยากไปเรียนที่ อัสสัมชัญ ธนบุรี แต่ โค้ชอาร์ท บอกให้ผมอยู่ที่นี่ ไม่อยากให้ไปกรุงเทพฯ เพราะการใช้ชีวิตมันต่างกัน อีกอย่างเขาบอกว่าจะเอาโค้ชบราซิลมาสอนเยาวชนที่นี่ ผมเลยตัดสินใจเลือกอยู่กับ ลีโอ เชียงราย ยูไนเต็ด” 

“โค้ชคนนั้นคือ วันเดอร์เลย์ เฮคโค้ช เชียงใหม่ ยูไนเต็ด คนปัจจุบัน ผมได้เรียนรู้จากเขาทั้งเรื่องทักษะแบบบราซิลแท้ๆ การเล่นร่วมกับเพื่อน”

“ผมชอบไปหาเขาที่บ้าน บอกให้เขาสอนฟุตบอลให้ผม สอนคนเดียวเลยเขาก็สอน พอสอนเสร็จในช่วงเช้า เมื่อก่อนที่ เชียงราย จะมีคลีนิคฟุตบอล ซึ่ง วันเดอร์เลย์ ต้องไปสอนฟุตบอลต่อในช่วงบ่าย ผมก็ตามเขาไปซ้อมด้วย เรียกว่าช่วงนั้นผมบ้าฟุตบอลและอยากเล่นฟุตบอลมาก” ชานุกูล กล่าว

ขณะที่ “โค้ชอาร์ท” สาวิน ได้เปิดถึงการรั้ง ชานุกูล ไว้กับทีมในช่วงตั้งไข่ของการสร้างอคาเดมี ว่า “ไนท์ เป็นเด็กดี เขามีพรสวรรค์มาก ตอนนั้นผมมองว่า อัสสัมชัญฯ เน้นแข่งขัน อย่าลืมว่าฟุตบอลในกรุงเทพฯ มีแข่งเยอะ”

“ผมมองว่านักเตะเยาวชนต้องได้รับการพัฒนาทุกด้าน เราจึงรั้ง ไนท์ ไว้ ตอนนั้นเรามีทีมงานโค้ชบราซิลหลายคน ซึ่งเราเชื่อว่าจะพัฒนาฝีเท้าเขาและนักเตะในอคาเดมีได้อย่างถูกต้อง”


เจอครูลูกหนังรุ่นใหญ่ 

เมื่อตัดสินใจอยู่กับ ลีโอ เชียงราย ยูไนเต็ด ทำให้ ชานุกูล ได้เซ็นสัญญา 3 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ เฮงค์ วิสมัน กุนซือชาวดัตช์คุมทีม เขาได้เรียกแข้งเยาวชนขึ้นไปฝึกซ้อมกับทีมชุดใหญ่ 

นั่นทำให้ ชานุกูล ได้เรียนรู้ศาสตร์ลูกหนังจากกองกลางระดับเทพของเมืองไทยไม่ว่าจะเป็น อิศวะ สิงห์ทอง, พิชิตพงษ์​ เฉยฉิว, ยุทธจักร ก้อนจันทร์ และ พีรพงศ์ พิชิตโชติรัตน์ 

แต่ด้วยอายุที่น้อย ทำให้เขารู้สึกเกรงใจและไม่กล้าเข้าหารุ่นพี่ ได้แต่เพียงมองและจดจำวิธีการเล่นของนักเตะเหล่านั้น อย่างไรก็ตามรุ่นพี่ทุกคนพยายามเข้าหา และสั่งสอนวิชาลูกหนังให้กับเขาแบบไม่มีกั๊ก 

นอกเหนือจากการพัฒนาฝีเท้าแล้ว การใช้ชีวิตนอกสนามแบบมืออาชีพเป็นสิ่งที่เขาถูกสอนมาเสมอจนเอามาปรับใช้จนถึงปัจจุบัน 

“ผมรู้สึกเหมือนฝัน เพราะข้างหน้าผมคือนักเตะระดับแนวหน้าของเมืองไทย พี่แป๊ะ (พิชิตพงษ์ เฉยฉิว) ตอนนั้นโคตรเก่ง เพิ่งประสบความสำเร็จมากับ เมืองทอง ยูไนเต็ด ด้วย”

“ผมเห็นเขาเล่นแล้วมันสุดยอดจริงๆ ทำให้ผมยกเขาเป็นไอดอลคนแรกเลย”

“ทุกคนพยามสอนให้กล้าเล่น ไม่ต้องกลัว แต่ด้วยความเป็นเด็กเราก็หวั่นๆ อยู่แล้ว ผมทำได้แค่เรียนรู้และจำสิ่งดีๆ มากที่สุด”

“พี่ๆ เขาจริงจังกับการซ้อมมาก ทำเต็มที่ หลังจากซ้อมเสร็จพี่ๆ เขาก็เข้าฟิตเนส ดูแลตัวเองอย่างดี ผมจึงเข้าใจการเป็นนักเตะอาชีพยิ่งขึ้น”

นอกจากกองกลางระดับขึ้นหิ้งของเมืองไทยที่กล่าวมาแล้ว ยังมี “ยิ่ง” นันทวัฒน์ แทนโสภา กองหน้าเจ้าของสถิติยิงประตูมากที่สุดในฟุตบอลเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก คอยติวเข้มนอกรอบให้อีกด้วย เช่นเดียวกันกับ “โค้ชโจ” ธีรศักดิ์ โพธิ์อ้น ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเฮดโค้ชของทีม กว่างโซ้งมหาภัย ในปี 2014 

“พี่ยิ่งเขาชอบมาสอนผมกับเพื่อนหลังซ้อมเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นการแปบอล โยนบอลแบบไม่ต้องมอง การยิงประตู”

“พี่โจ ก็สอนเยอะ สอนทุกอย่าง ทั้งในและนอกสนาม เขาไม่ค่อยดุ แต่จริงจัง มีอารมณ์ร่วมกับฟุตบอลสูง เขาละเอียดมาก เพื่อให้นักเตะทุกคนเก่งขึ้นให้ได้”


ทางแยกลูกหนังที่ต้องเลือกทางเดิน

เมื่อได้เรียนรู้ศาสตร์ลูกหนัง แต่ไม่มีโอกาสได้สัมผัมเกมกับทีมชุดใหญ่ ทำให้ ลีโอ เชียงราย ยูไนเต็ด ปล่อยตัว ชานุกูล ไปเสริมกระดูกกับ อุตรดิตถ์ ในไทยลีก 4 เลก 2 ปี 2014 แบบยืมตัว ต่อด้วยปล่อยให้ น่าน ซึ่งจับมือเป็นพัธมิตรกับ ลีโอ เชียงราย ยูไนเต็ด ปี 2015 

ซึ่งการเล่นที่ น่าน เขาได้โอกาสลงเล่นอย่างต่อเนื่องร่วมกับนักเตะของอคาเดมีของ กว่างโซ้งมหาภัย แม้ส่วนใหญ่ผลการแข่งขันจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ แต่นั่นคือประสบการณ์ชั้นดีให้เขากล้าแกร่งในขึ้นเส้นทางลูกหนัง 

จากนั้นเมื่อสัญญาของเขากับ ลีโอ เชียงราย ยูไนเต็ด กำลังจะหมดลง เขาจึงมองหาความท้าทายใหม่ด้วยการเลือกมุ่งหน้าไปที่ ม.นอร์ทกรุงเทพ 

“สัญญาผมจะหมดพอดี ทาง ม.นอร์ทกรุงเทพ ให้ผมกับ นนท์ (พิชานนท์ จันทร์หลวง) ไปซ้อมกับทีมเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ทาง เชียงราย รู้ข่าว ผอ.ปั๋น (ชิตวัน ชินอนุวัฒน์) เรียกผมไปคุยเลย เขาบอกว่าจะไปเล่นไทยลีก 4 จริงหรอ บอกว่าผมเคยเล่นแล้วนะ ทางสโมสรมีนโยบายดันขึ้นชุดใหญ่ ไม่อยากให้ผมไป”

“แต่สุดท้ายผมเลือกไปอยู่กับ ม.นอร์ทกรุงเทพ แต่ก่อนไปผมได้ไปถามโค้ชแมก (ศยาม สิทธิอำไพ) โค้ชทีมอคาเดมีว่า ถ้าจะออกจากทีม ต้องทำยังไงเขาก็ให้ไปคุยกับประธาน วันนั้นหลังจบแมตช์โค้กคัพ ผมเดินตามหลังท่านประธานเพื่อจะไปคุย”

“ด้วยความเป็นเด็กผมเลยไม่กล้าเข้าไปคุย พอเช้ามาผมจองตั๋วนั่งรถไปซ้อมกับ ม. นอร์ทกรุงเทพ ต่อเลย แล้วให้ผู้ใหญ่ของทาง ม. นอร์ทกรุงเทพ ขอใบโอนย้ายกับทาง เชียงราย ซึ่งทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี”


เจอบททดสอบหนักจนเกือบยอมแพ้ 

การเปลี่ยนเส้นทางเดินใหม่ ชานุกูล ต้องเจอบททดสอบที่หนักขึ้น การมาเล่นกับ ม.นอร์ทกรุงเทพ ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะ “โค้ชแบงค์” ดำรงศักดิ์ บุญม่วง เฮดโค้ชของทีมจัดหนักจัดเต็มอัดโปรแกรมฝึกซ้อมหฤโหดให้บรรดาลูกทีมชนิดที่ตัวเขาท้อจนเกือบจะยอมแพ้

“การไปอยู่กับ ม.นอร์ทกรุงเทพ ปีแรกถือว่าหนักมาก ผมต้องตื่นมาวิ่ง มาฝึกซ้อมหนักทุกวัน น้ำตาแทบกระเด็นจนอยากกลับบ้าน พี่ยิ่ง (นันทวัฒน์ แทนโสภา) ตอนนั้นเขาทำ เชียงราย ซิตี้ ก็ติดต่อมาให้กลับไปเล่น ผมเลยไปคุยกับโค้ชแบงค์”

“โค้ชแบงค์บอกว่าผมมีสัญญากับทีม มันยากที่จะย้ายไป อยากให้ผมสู้ โค้ชแบงค์เขากระตุ้นผมตลอด เขาเชื่อมั่นใจตัวผมมาก เขามาติวเข้มผมมากกว่าคนอื่น เขาบอกว่าอยากให้ผมเล่นในระดับไทยลีก รู้ว่าผมมีศักยภาพ สุดท้ายเลยขอตัดสินใจสู้และอยู่กับทีมต่อ”

“การเล่นอยู่ ม.นอร์ทกรุงเทพ ผมได้ลงตลอด การเล่นไทยลีก 4 ไม่มีปัญหาสำหรับผม เพราะได้ประสบการณ์จากการเล่นให้ อุตรดิตถ์ กับ น่าน มาแล้ว จังหวะมันได้แล้ว สิ่งที่ดีใจมากที่สุดคือพา ม. นอร์ทกรุงเทพ เลื่อนชั้นมาเล่นในไทยลีก 3 ได้สำเร็จ”

แม้จะเล่นในไทยลีก 4 แต่การที่ทีมได้อุ่นเครื่องกับทีมใหญ่ๆ เสมอ ทำให้ ชานุกูล หวังที่จะก้าวไปเล่นในระดับสูงกว่าเดิม เพราะเชื่อว่าฝีเท้าของตัวเองก็มีดีเหมือนกัน 
“เมื่อก่อน ม.นอร์ทกรุงเทพ จะอุ่นเครื่องกับทีม บีจี ปทุม ยูไนเต็ด บี, ราชประชา หรือ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด เสมอ ซึ่งนักเตะบางคนที่ไม่ได้เล่นกับชุดใหญ่จะถูกส่งมาเล่นด้วย พอเราเล่นกับเขาบ่อยๆ รู้ว่าเราก็เล่นได้ ฝีเท้าไม่ได้เป็นรอง” 

“การได้เห็นเพื่อนๆ น้องๆ ไปเล่นในระดับสูงเราก็อยากไปจุดนั้น ทั้ง นนท์ (พิชานนท์ จันทร์หลวง) ไปเล่นในไทยลีก 2 ขณะที่ บุ๊ก (เอกนิษฐ์ ปัญญา) หรือ จ็อบ (โชติภัทร พุ่มแก้ว) ไปเล่นในไทยลีก 1 แซงเราไปแล้ว มันทำให้เราหาทางที่จะไปอยู่จุดนั้นให้ได้”

“สิ่งที่มาจุดประกายผมคือตอนผมอยู่ ปี 3 พอไปอุ่นเครื่องกับทีมใหญ่ๆ บ่อยขึ้น เขาก็สนใจอยากได้ตัว แต่สู้ราคาไม่ไหว เพราะผมมีสัญญากับทีมถึง 5 ปี และกำลังเรียนอยู่ด้วย เลยคิดว่าขอเรียนให้จบและสัญญาหมดก่อนค่อยว่ากันใหม่ ซึ่งช่วงนั้นมันทำให้ผมมุ่งมั่นมาก พยายามพัฒนาฝีเท้าตลอด”


เติมฝันลีกสูงสุด

เมื่อหมดสัญญาและเรียนจบการศึกษาที่ ม.นอร์ทกรุงเทพ ทำให้ ชานุกูล ต้องหาสโมสรใหม่เพื่อต่อยอดการเป็นนักเตะระดับอาชีพ โดยเขามองลีกที่สูงขึ้น แต่ก่อนจะย้ายมาซบ โปลิศ เทโร เขาเกือบจะไม่มีต้นสังกัดเหมือนกัน

“พอเรียนจบ สัญญาหมดพอดี ม.นอร์ทกรุงเทพ เขาก็เปิดโอกาสให้ไปหาสโมสรใหม่ เขาอยากให้เราไปไกลกว่าเดิม ถ้าไม่มีสโมสรค่อยกลับไปหาเขาได้”

“ประกอบกับสถานการณ์โควิดระบาดลีกมันหยุดหมด ผมเลยตัดสินใจกลับไปอยู่ที่บ้าน ตอนนั้นเคว้งเลย แต่มี แพร่ ยูไนเต็ด ซึ่ง โค้ชหนุ่ม (อานนท์ บรรดาศักดิ์) อยากได้ตัว ยื่นข้อเสนอเงินเดือนละ 50,000 บาท แต่ผมยังไม่ตัดสินใจย้ายไป เพราะรอให้เอเย่นต์หาสโมสรใหม่ให้ด้วย”

“แต่ด้วยระยะเวลาที่กระชั้นชิดประกอบกับลีกกำลังจะเปิดทำให้ แพร่ ยื่นข้อเสนอเงินเดือนใหม่เหลือเดือนละ 25,000-30,000 บาท ผมเลยโทรหาเอเย่นต์แต่ก็ไม่รับ พอรับเขาก็บอกให้รอ”

“ฝั่ง ม.นอร์ทกรุงเทพ ก็ต้องการคำตอบว่าจะเล่นให้ไหม เพราะเขาต้องเซ็ตทีมสำหรับฤดูกาลใหม่ สุดท้าย โค้ชแบงค์ ได้ติดต่อไปทาง โปลิศ เทโร ให้ผมไปทดสอบฝีเท้ากับทีม 1 สัปดาห์”

“พอทดสอบเสร็จทาง โค้ชอ้น (รังสรรค์ วิวัฒน์ชัยโชค) ขอให้ผมซ้อมกับทีมอีก 1 เดือนได้ไหม แต่ผมต้องให้คำตอบกับ แพร่ และ ม.นอร์ทกรุงเทพ ในวันพรุ่งนี้ สุดท้าย โค้ชอ้น ตัดสินใจจับผมเซ็นสัญญาทันที”

ชานุกูล ถือว่าเป็นนักเตะที่โชคดี เพราะเคยร่วมงานกับอดีตกองกลางฝีเท้าฉมังของไทยหลายคน พอมาเป็นนักเตะเขายังได้เรียนรู้จากอดีตกองกลางฝีเท้าเลิศของไทยอีกคนคือ โค้ชอ้น ซึ่งทำให้เติมเต็มฝีเท้าให้ดีขึ้นไปอีก

“พี่อ้นพูดเสมอว่าไม่ยิงเมื่อไหร่จะดัง ทำให้ผมกล้ายิงมากขึ้น”

“พี่อ้นบอกว่า ไนท์​ กองกลางที่ดีไม่ควรหันหลังรับบอล จับบอลต้องเปิดลำตัว มองไปทิศทางที่จะเล่นต่อเสมอ แม้จะเป็นจุดเล็กๆ แต่มันทำให้ผมพัฒนาขึ้นไปอีกขั้น พี่อ้นใส่นักเตะทุกคนต้องการให้นักเตะเก่งกว่าเดิม”

“อีกคนคือ พี่ลีซอ (ธีรเทพ วิโนทัย) ผมได้นอนกับแกบ่อย แม้แกมีงานอีเว้นท์เยอะ แต่ผมไม่เคยเห็นแกเหนื่อยเลย มันทำให้ผมไม่เฉื่อย และคอยสร้างแรงกระตุ้นให้ตัวเองเหมือนพี่ซอ”

นอกจากนี้เขายังพูดถึงความประทับใจที่มีต่อไอดอลอย่าง สารัช อยู่เย็น กับ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ว่า “ผมฝากพี่เจน (เจนภพ โพธิ์ขี) ไปขอเสื้อพี่ตังค์ ในเกมเอฟเอคัพ ที่เจอ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด จบเกมพี่ตังค์เอาเสื้อมาให้ และชมว่าผมเล่นดี”

“ผมดีใจมากไม่คิดว่าพี่ตังค์จะเป็นกันเองขนาดนั้น เพราะเกมนั้นเราชนะด้วย ผมยิงได้ด้วย แต่เขาไม่มีอาการหงุดหงิดใส่เลย ยังอวยพรให้ผมมีผลงานที่ดีขึ้นอีก”

“ส่วนพี่เจ เคยมาซ้อมกับ เทโร ตอนปิดฤดูกาล เขาไปอีกระดับแล้ว ไม่เหมือนนักเตะไทยเลย มันเป็นอะไรที่สุดยอดมากๆ”


ทีมชาติไทย บันไดสูงสุดในชีวิต 

พอได้โอกาสลงสนามมากขึ้น ฟอร์มการเล่นของ ชานุกูล ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ และมีส่วนช่วยให้ โปลิศ เทโร ไม่ต้องดิ้นรนหนีตกชั้น และมีลุ้นแชมป์ฟุตบอลช้าง เอฟเอคัพ


 
“ปีนี้ทีมไม่ต้องเล่นเกมรับมากเหมือนฤดูกาลที่แล้ว ทีมปรับมาเล่น 4-3-3 ซึ่งกองกลางแบบผมมีน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นตัวคอยเชื่อมเกม ตัดเกม แต่ผมเป็นสไตล์ทะลุทะลวง ผมได้เล่นเข้าขากับพี่เจน (เจนภพ โพธิ์ขี) ที่เล่นปีกขวาด้วย ทำให้ฟอร์มดี”

“การมีชื่อติดทีมชาติไทย มันเป็นเกียรติสำหรับผม ผมมองกลับไปแล้วรู้ว่าผมมาไกลมาก ส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมมีวันนี้น่าจะเป็นความไม่ยอมแพ้”

“แม้ผมจะเป็นคนขี้อาย แต่ผมมักจำทุกเรื่องได้ดีและปรับตัวเข้ากับบรรยายกาศได้เร็ว เรียนรู้ พัฒนาตัวเองเสมอ อย่างตอนอยู่ เชียงราย ผมก็เรียนรู้ จำวิธีการเล่นจากคนเก่งๆ มาอยู่ เทโร ก็เรียนรู้จากคนเก่งๆ ผมไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง”

การเป็นน้องใหม่ป้ายแดงของทีมชาติไทย เขาหวังว่าจะเก็บประสบการณ์และทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด

“ผมพยายามเต็มที่ครับ หากมีโอกาสจะทำหน้าที่และเล่นให้ดีที่สุด”

“ส่วนเรื่องของอนาคตอยากไปพิสูจน์ฝีเท้ากับทีมที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งทาง เทโร เองก็ไม่ห้ามนะครับ เขาอยากให้นักเตะไปไกลกว่าเดิม ส่วนการไปเล่นต่างประเทศ ผมคิดว่ายังไกลเกินไปสำหรับผม”

ทุกก้าวของชีวิต ชานุกูล ก๋ารินทร์ ล้วนผ่านอุปสรรค การทำงานหนักมากมาย ดังนั้นการติดชาติไทย ครั้งแรกของเขา ไม่ใช่เรื่องฟลุ๊กอย่างแน่นอน 

 

Author

ศุภฤกษ์ สีทองเขียว

หนุ่มแดนหมอแคน ผู้คลั่งไคล้ในฟุตบอล