Feature

Back to Africa : เหตุใดความนิยม "โค้ชบ้านเกิด" จึงผุดขึ้นพรวดพราดในทีมชาติแถบแอฟริกา | Main Stand

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สีสันอย่างหนึ่งในฟุตบอลโลกแทบจะทุกครั้ง คือทีมชาติจากทวีปแอฟริกา ที่สักหนึ่งทีมจะมีผลงานแบบ "ม้ามืด" สยบทีมใหญ่เข้ารอบลึก ๆ ชุดแข่งขันที่มีความแหวกแนวไม่ซ้ำใคร รวมถึงวิถีแห่งการเชียร์กีฬาที่เป็นเอกลักษณ์ ให้แฟนบอลอย่างเราได้รู้สึกประหลาดใจตลอด ๆ 

 

ฟุตบอลโลก 2022 ที่กำลังจะเปิดศึกโม่แข้งกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ ก็เช่นเดียวกัน เพราะหากไม่มีอะไรผิดพลาด หนนี้จะเป็นฟุตบอลโลกครั้งแรก ที่ทีมชาติจากกาฬทวีปใช้ผู้ฝึกสอน เป็น "คนจากชาติตนเอง" ทั้งหมด

อาลู ซิสเซ่ (Aliou Cissé) แห่งเซเนกัล, ริโกแบร์ ซง (Rigobert Song) แห่งแคเมอรูน, ออตโต อัดโด (Otto Addo) แห่งกาน่า, วาลิด เรกรากวี (Walid Regragui) และ ราชิด เบนมาห์มูด (Rachid Benmahmoud) แห่งโมร็อคโค รวมถึง ยาเลล์ คาดรี (Jalel Kadri) แห่งตูนิเซีย ล้วนเป็น "โค้ชท้องถิ่น" ในประเทศนั้น ๆ ทั้งสิ้น

ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะภาพติดตาของแฟนบอล คือการมี "โค้ชยุโรป" ตาน้ำข้าว นั่งคุมทีมอยู่ข้างสนามเสมอ ๆ

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

 

ท่านประเมินพลังของข้าต่ำไป !

แม้ดูเหมือนเป็นปรากฏการณ์ ที่บรรดาทีมชาติจากแอฟริกา ต่างยกโขยง เปลี่ยนมาใช้โค้ชชาติบ้านเกิดกันเป็นแถว ๆ โดยมิได้นัดหมาย แต่จริง ๆ แล้ว ก็เพราะสมาคมฟุตบอลนั้น "ประเมินพลัง" ของบรรดาโค้ชชาวแอฟริกา "ต่ำไป" ต่างหาก เรื่องถึงได้เป็นแบบนี้

แอฟริกา ก็เหมือนชาติด้อยพัฒนา หรือกำลังพัฒนาในทวีปอื่น ๆ ที่มักจะคิดว่า "ของนำเข้า" ดีกว่าของที่มีในประเทศเสมอ ๆ

โดยเฉพาะสมัย "ล่าอาณานิคม" ที่บรรดาชนชาติจากยุโรป เข้าไป "แจกความเจริญ" ในดินแดนกาฬทวีปเกือบทั่วถึง มีเพียงดินแดนแถบไลบีเรียและเอธิโอเปียเท่านั้นที่รอดเงื้อมมือมารได้

การก่อสร้างถนนหนทาง วางรางรถไฟ การคมนาคม สินค้า ผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ รวมถึงการศึกษา ก็ได้พวกฝรั่งตาน้ำข้าวนี่แหละมาแจกให้ทั้งนั้น

และต่อมา ทั่วแอฟริกา ก็ได้เกิดกระแส "ปลดแอก" ขับไล่เจ้าอาณานิคมออกไปให้สิ้น ด้วยต้องการมีอำนาจอธิปไตยของตนเอง ขอเลือกบริหารจัดการความเป็นไปของประเทศ ด้วยตนเอง 

แต่เมื่อได้เอกราชแล้ว ก็เหมือน "หนีเสือปะจระเข้" บรรดาประเทศแถบนี้ ก็ยังพัวพันกับปัญหาเผด็จการ อำนาจนิยม และการละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างต่อเนื่อง แทบไม่ต่างกับสมัยอยู่ใต้อาณานิคมเลย เพียงแต่เปลี่ยนจากฝรั่งคอเคซอยด์ เป็น "คนพื้นที่เดียวกัน" กระทำกันเอง ดีไม่ดีจะเป็นการ "เจริญลง" เสียด้วยซ้ำ

สถานการณ์เช่นนี้ เรียกว่า "กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง" เหมือนมีอะไรที่ดึง ไม่ให้แอฟริกาเลือกทางใด เหมือนจะมูฟออนได้แล้ว แต่ในประเทศก็ยัง "ตั้งมั่น" ไม่ได้ และดูน่าจะ "ล้มเหลว" กว่าด้วย

ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่จะมีการ "กลับจุดเซฟ" ไปนึกถึง "วิธีคิด" อะไรที่มีความ "ก้าวหน้ากว่า พัฒนากว่า"  อย่างพวกฝรั่งชาวยุโรปนั่นเอง

และเมื่อภาพรวมเป็นเช่นนี้ ก็ได้ส่งผลต่อ "วิธีคิดทางฟุตบอล" เช่นกัน 

จึงไม่น่าแปลกใจที่โค้ชจากทวีปยุโรป ได้รับการจ้างให้มาทำทีมเป็นดอกเห็ด แน่นอน เหตุผลเชิงประจักษ์ก็คือฟุตบอลทวีปยุโรปแข็งแกร่งที่สุดในโลก การจ้างคนจากทวีปนี้มาฝึกสอนก็น่าจะช่วยสร้างเสริมกระดูกให้ฟุตบอลแอฟริกาได้บ้าง

โดยโค้ชท้องถิ่นส่วนมาก จะเป็นได้แค่ "ลูกหาบ" คอยช่วยเหลือในการสื่อสาร แปลความ อธิบายความให้นักเตะเข้าใจ หรือบางประเทศ โค้ชพูดภาษาเดียวกันกับนักเตะได้ อย่างพวกภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ หรือโปรตุเกส (เพราะต้องไม่ลืมว่า หลายชาติยังคงใช้ภาษาราชการที่ได้รับการถ่ายทอดในยุคล่าอาณานิคม) ก็ยิ่งทำให้บทบาทของบุคลากรโค้ชท้องถิ่น "จืดจาง" แบบสุด ๆ 

แน่นอน ข้อเสียที่ตามมาก็คือ โค้ชท้องถิ่น ไม่แม้แต่จะได้รับ "โอกาส" ในการคุมทีมชาติบ้านเกิดเมืองนอน แม้โค้ชฝรั่งตาน้ำข้าวจะทำผลงานห่วยบรม ก็ยังได้รับโอกาสเรื่อย ๆ หรืออย่างมาก ก็อาจจะให้โค้ชท้องถิ่นรับหน้าที่ "รักษาการ" ไปก่อน รอดีลโค้ชนำเข้าคนใหม่มาทำทีม ซึ่งก็จะวนลูปแบบนี้ไปเรื่อย ๆ 

ทำให้ฝ่ายบริหารและแฟนบอลไม่มีทางรู้เลย ว่าจริง ๆ แล้ว โค้ชชาติบ้านเดียวกับตนนั้น "มีของ" ขนาดไหน ?

บาการี ซิสเซ (Bakary Cisse) นักข่าวขรัวเฒ่าชาวมาลี ได้แสดงความอัดอั้นตันใจในเรื่องนี้ว่า

"โดยทั่วไป ไม่มีใครยอมรับโค้ชบ้านเกิด ทั้งที่ทักษะความสามารถก็ไม่ด้อยไปกว่าโค้ชชาวยุโรป ต่างกันก็แค่โอกาสนั้นแหละ"

โมฮัมเหม็ด มากาสซูบา (Mohamed Magassouba) อดีตเฮดโค้ชชาวมาลี กล่าวเสริมถึงจุดนี้อีกว่า

"เราขาดการสนับสนุนมาตลอด โดยเฉพาะด้านเม็ดเงิน ที่โค้ชต่างชาติมีมากกว่าเรา ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ในฟุตบอลแอฟริกัน คัพ ออฟ เนชั่นส์ 15 จาก 32 ครั้ง เป็นโค้ชท้องถิ่นที่ทำทีมชนะเลิศ"

ซึ่งก็เป็นความจริง เพราะโค้ชยุโรประดับตำนานในแอฟริกา อย่าง แอร์เฟ เรนาร์ (Hervé Renard) ก็สามารถคว้าถ้วยใบนี้มาได้ 2 สมัย กับแซมเบีย และโกดิวัวร์ หรือ วินฟรีด เชเฟอร์ (Winfried Schäfer) อดีตเฮดโค้ชทีมชาติไทย ก็คว้าได้เพียงสมัยเดียวกับแคเมอรูน 

ต่างจากสองโค้ชโนเนม นาม ชาร์ลส์ คูมี ยัมฟี (Charles Kumi Gyamfi) ของทีมชาติกานา และ ฮัสซัน เชฮาตา (Hassan Shehata) ของทีมชาติอียิปต์ ที่พาชาติบ้านเกิดคว้าถ้วยได้ถึงคนละ 3 ครั้งด้วยกัน

ดังนั้น เมื่อกาลเวลาพาฟ้าเปิด นับตั้งแต่การประสบความล้มเหลวของทีมจากแอฟริกา ในฟุตบอลโลก 2 ครั้งติด (2014, 2018) หลายประเทศจึงเริ่มหันทิศทาง มาให้โอกาสโค้ชท้องถิ่นมากขึ้น 

แน่นอน เมื่อเป็นเช่นนี้ เวลาแห่งการ "ปล่อยของ" ก็มาถึง !

 

โค้ชที่ไหนก็ไม่สุขใจเท่าบ้านเรา

วลีที่ว่า "คนบ้านเดียวกัน แค่มองตากันก็เข้าใจอยู่" ยังคงใช้ได้เสมอ โดยเฉพาะเรื่องการทำทีมฟุตบอล ที่จะต้องอาศัยการสร้างความเข้าใจแบบหมู่คณะ มองตาก็รู้ใจ รู้เหลี่ยมกันว่าควรจะพูดคุยแบบใด ฝึกสอนแบบใด ควบคุมบุคลากรอย่างไร 

การจะกระทำเช่นนี้ได้ โค้ชท้องถิ่น ถือได้ว่าทรงประสิทธิภาพ และใช้ระยะเวลาที่สั้นกว่าโค้ชนำเข้าอย่างมาก 

และเมื่อสถานการณ์เป็นใจ ก็เป็นโอกาสของโค้ชท้องถิ่นได้เฉิดฉาย ยิ่งไปกว่านั้น ยังทำผลงานได้ดีอีกด้วย !

ในการแข่งขัน แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ 2 ครั้งล่าสุด ก็เป็นโค้ชท้องถิ่นนี่แหละที่พาทีมคว้าแชมป์ได้ 

โดยในปี 2019 แอลจีเรีย (Algeria) ผงาดคว้าแชมป์สมัยที่ 2 ของตนอย่างยิ่งใหญ่ ภายใต้การกุมบังเหียนของ ฌาเมล เบลมาดี้ (Djamel Belmadi) โดยไล่ปราบพยศทั้ง โกดิวัวร์, ไนจีเรีย และ เซเนกัล ทีมฟอร์มแรง ๆ มาแล้ว และที่น่าภาคภูมิใจ คือแชมป์ทั้ง 2 สมัยของแอลจีเรีย ก็เป็นโค้ชชาวแอลจีเรียนี่แหละ ที่เนรมิตถ้วยให้พลพรรค "หมาป่าแอฟริกา" ได้

ส่วนล่าสุด ปี 2021 เซเนกัล ก็ผงาดคว้าแชมป์สุดยิ่งใหญ่ ภายใต้การกุมบังเหียนของ อาลู ซิสเซ่ (Aliou Cissé) โค้ชทรงผมสุดคูล อดีตหนึ่งในตำนานของชาติจากชุดฟุตบอลโลก 2002 โดยที่แมตช์ชิงชนะเลิศ ชนะจุดโทษ อียิปต์ ทีมสุดแกร่งแห่งแอฟริกาแบบลุ้นระทึก และยังเป็นแชมป์สมัยแรกของพลพรรค "สิงห์กาฬทวีป" อีกด้วย

หากพิจารณาความสำเร็จแบบรูปธรรมแล้ว เพื่อความแฟร์ก็ต้องพิจารณาความสำเร็จแบบ "การพัฒนา" ตามมาด้วย โดยทีมชาติที่มีพัฒนาการ "ก้าวกระโดด" ที่สุด จากการใช้โค้ชท้องถิ่นคุมทีม นั่นคือ "ทีมชาติมาลี (Mali)"

การเข้ามาของ โมฮัมเหม็ด มากาสซูบา โค้ชเลือดเนื้อเชื้อไขมาลีแท้ ๆ สามารถเปลี่ยนทีมดาด ๆ ที่เคยเก่งกาจในยุคก่อน แต่ตอนนี้เป็นเพียงแค่ไม้ประดับ ให้มีรูปแบบการเล่นที่ทรงพลัง วิ่งไม่มีหมด ขึ้นสุดลงสุด ต่อกรกับทีมชาติยักษ์ใหญ่ในทวีปได้แบบสูสี

ผลงานเด่นคือการเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายใน แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ สองครั้งติดต่อกัน โดยในรอบแบ่งกลุ่มจบแชมป์กลุ่มทั้งสองครั้ง โดยทั้งสองครั้งนั้น เป็นการเก็บชัยเหนือ ตูนิเซีย ทีมแกร่งเสียด้วย 

แต่ที่พีกไปกว่านั้น คือ ฟุตบอลโลก  2022 รอบคัดเลือก โซนแอฟริกา ที่มากาสซูบา นำทัพ "อินทรีสามสี" โชว์ผลงานสุดสะเด่า ในรอบคัดเลือกรอบสอง จบแชมป์กลุ่มแบบไม่แพ้ใคร (ชนะ 5 เสมอ 1) แต่น่าเสียดายที่รอบสุดท้าย ไปพลาดท่าแพ้ตูนิเซีย ด้วยสกอร์รวม 1-0 พลาดตั๋วไปกาตาร์อย่างน่าเสียดาย

กระนั้น ก็ใช่ว่าเทรนด์การใช้โค้ชท้องถิ่น จะทำให้เกิดการ "เสกความสำเร็จ" ให้ทีมได้อย่างปุปปับเสียเมื่อไหร่ ตื้นลึกหนาบางอาจมีอะไรมากกว่านั้น ?

 

กาฬทวีปจีบกลิ่นยุโรป

โอกาสเหมาะเจาะและความเข้ากันได้กับนักเตะก็ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่มีทางเกิดขึ้น หาดโค้ชท้องถิ่นนั้น "มีความเป็นท้องถิ่น" แบบเพียว ๆ 

สืบเนื่องจากปัญหาและความวุ่นวายในยุค "โพสต์โคโลเนียล (Postcolonialism)" ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ เส้นเขตแดน หรือเชื้อชาติ ที่แอฟริกายังคงแก้ไม่ตก มูฟออนเป็นวงกลม วนเวียนเป็นวงจรอุบาทว์ 

แน่นอน ด้วยปัญหาประเดประดังนี้ ก็ได้ทำให้การพัฒนาในด้านต่าง ๆ "หยุดชะงักลง" ไม่ก็ "เจริญลง" เพราะเป้าประสงค์หลักคือ "ตีกันก่อน" ซึ่งก็ได้ส่งผลมายังด้านฟุตบอลเช่นเดียวกัน ที่ขาดการพัฒนาอย่างเป็นระบบไปด้วย

จึงไม่แปลกใจ ที่เห็นว่านักฟุตบอลส่วนมากที่เกิดในแอฟริกา ที่พอจะมีฝีเท้าเตะตาแมวมอง มีดีลมาเมื่อไร ก็จะหอบผ้าหอบผ่อน บินไปค้าแข้งยังทวีปยุโรป แบบไม่ต้องคิดหน้าคิดหลัง

เรื่องเม็ดเงิน ค่าตอบแทนที่ได้มากกว่าการเตะฟุตบอลในประเทศอย่างมหาศาลก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือเรื่องของการ "เปิดกะลา" ไปเรียนรู้สรรพวิชาศาสตร์แห่งลูกหนัง ในดินแดนที่ฟุตบอลคือทุกอย่างของชีวิต มีอยู่ทุกที่ เตะกันทุกระดับ ทุกชนชั้น ซึมซาบอยู่ในทุกอณู ตั้งแต่เกิดยันเสียชีวิต

"ทรัพย์สินเงินทอง สามารถถูกช่วงชิงไปได้ แต่องค์ความรู้จะติดตัวไปจนตาย ใครหน้าไหนก็พรากไปไม่ได้" วลีนี้ใช้ในกรณีของนักเตะแอฟริกา ได้ดีเลยทีเดียว

การได้รับการขัดเกลาโดย "ความเป็นยุโรป" ทางฟุตบอล การฝึกสอน ฝึกซ้อม โปรแกรมเทรนนิ่ง ฟิตเนส กลยุทธ์ รูปแบบวิธีการเล่น การเข้าทำ การวางแผน เอาตัวรอดต่าง ๆ รวมไปถึงวิธีคิด ปรัชญาสโมสร หรือวัฒนธรรม ประเพณีทางฟุตบอลที่สืบทอดอย่างยาวนาน เหล่านี้ล้วน "ติดตั้ง" ในหัวแข้งกาฬทวีปไกลถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และเมื่อนักเตะเหล่านี้จับงานโค้ช เมื่อนั้น ก็ถึงเวลาที่พวกเขาต้องดึง "วิชา" เหล่านี้มาใช้งาน

อาลู ซิสเซ่ ที่พาเซเนกัลครองแชมป์ทวีปอยู่ตอนนี้ ก็เคยลงเล่นให้กับ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง และสองสโมสรในอังกฤษ อย่าง เบอร์มิงแฮม ซิตี้ และพอร์ตสมัธ โดยที่ "ปอมปีย์" นี้เอง เขาได้รับการฝึกสอนจาก แฮร์รี่ เรดแนปป์ กุนซือขรัวเฒ่า ปรมาจารย์ลูกหนังแห่งอังกฤษมาแล้ว

ออตโต อัดโด ที่พากานาไปฟุตบอลโลก 2022 ได้อีกครั้ง ก็เกิดที่เยอรมนี และลงเล่นให้ทีมชั้นนำอย่าง ฮันโนเวอร์ 96, โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์, และ ฮัมบูร์ก เอสเฟา ตลอดชีวิตการค้าแข้ง จะกลับมาเหยียบมาตุภูมิ ก็ตอนพลพรรค "ดาวดำ" มีแมทช์แข่งขัน รวมถึงการจับงานโค้ชแรก ๆ ก็เป็นทั้งผู้ช่วย และทีมสตาฟฟ์ ของฮัมบูร์ก และดอร์ทมุนด์ 

หรือ ริโกแบร์ ซง ที่พาแคเมอรูน "พลิกนรก" จากที่แพ้ แอลจีเรีย ในแมทช์แรก กลับมาชนะ 2-1 ชนิดยิงในนาทีสุดท้ายของช่วงต่อเวลาพิเศษ (นาทีที่ 120+4) ไปฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้สำเร็จ ซึ่งซงเองก็เป็นนักเตะ "ระดับตำนาน" ที่ลงสนามให้ทีมชาติแคเมอรูนมากที่สุด 137 แมทช์ และยังเป็นตำนานของ กาลาตาซาราย เคยทำงานร่วมกับ "ฟาติห์ เตริม (Fatih Terim)" ปรมาจารย์โค้ชแห่งตุรเคีย และลงเล่นให้กับ ลิเวอร์พูล และ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด มาแล้ว

จะเห็นได้ว่า บรรดาโค้ชเหล่านี้ เป็นพวก "เห็นโลกกว้าง" แล้วนำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เกิดประสิทธิภาพแก่ทีมชาติตน ซึ่งแบบนี้ ดีกว่าการนำเข้าโค้ชยุโรป แล้วหวังให้พวกนั้นเข้ามา "ถ่ายทอดวิชา" ให้คนในประเทศเป็นไหน ๆ 

เพราะอย่าลืมว่า "สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ" สำนวนนี้ยังคงใช้ได้เสมอ เรียนรู้จากการฟังก็ดีพอควร หากสามารถติดตาม วิเคราะห์ตาม ประมวลผลตาม และปรับใช้ได้ แต่จะดีกว่าไหม หากได้มีโอกาส "ไปสัมผัส" จริง ๆ อยู่กับสิ่งแวดล้อมนั้นจริงๆ จนแตกฉาน

แต่ที่ต้องตามต่อ ก็คือ ผลงานของบรรดาโค้ชท้องถิ่นเหล่านี้ใยฟุตบอลโลก 2022 ว่าจะพาทีมชาติของตนไปได้ไกลแค่ไหน

เพราะหากเกิดโชคไม่ช่วยขึ้นมา แล้วบรรดาทีมจากกาฬทวีป หันกลับไปหาโค้ชฝรั่งอีกครั้ง ก็คงจะน่าเสียดายไม่ใช่หรือ ?

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.britannica.com/topic/postcolonialism 
https://m.dw.com/en/afcon-nations-finally-put-trust-in-own-coaches/a-60360791 
https://m.dw.com/en/what-is-the-coaching-legacy-of-afcon-2021/a-60676997 
https://africa.cgtn.com/2022/04/06/african-football-teams-find-success-in-homegrown-coaches/ 
https://www.africanews.com/2022/02/04/afcon-2021-the-revenge-of-the-local-coaches// 
https://www.cafonline.com/news-center/news/historic-all-african-world-cup-bound-teams-to-be-handled-by-local-coaches 
https://cepr.org/voxeu/columns/how-colonial-railroads-defined-africas-economic-geography 

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น