Feature

มิวนิค 1972 : เหตุการณ์นองเลือดที่เปลี่ยนระบบรักษาความปลอดภัยของโอลิมปิกไปตลอดกาล | Main Stand

ไม่มีเหตุการณ์ไหนในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่รุนแรงและนองเลือดเท่ากับการแข่งขันในปี 1972 ที่นครมิวนิคอีกแล้ว

 

ครั้งนั้นเกิดเหตุการณ์มากมายที่เปิดช่องโหว่ให้กลุ่มก่อการร้ายใช้มหกรรมกีฬาของมนุษยชาติก่อเหตุนองเลือดที่น่าสลดใจ และลุกลามไปใหญ่ถึงขั้นการก่อสงครามขนาดย่อม ๆ หลังจากนั้น 

นี่คือเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในมิวนิค 1972 ... และการเปลี่ยนแปลงของระบบรักษาความปลอดภัยที่ไม่ยอมผ่อนปรนให้ใครหน้าไหนทั้งสิ้น 

ติดตามได้ที่ Main Stand 

 

สบาย ๆ เพื่อภาพลักษณ์

มหกรรมกีฬาโอลิมปิก ถือเป็นมหกรรมที่สามารถบอกอะไรเกี่ยวกับประเทศเจ้าภาพได้เป็นอย่างมาก ไม่ใช่แค่ความสำเร็จและความเป็นเลิศด้านกีฬาเท่านั้น แต่การจัดโอลิมปิกสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต การเมือง เศรษฐกิจ และทุก ๆ อย่างที่คุณพอจะนึกออก มันทำให้พอจะสำรวจได้ด้วยสายตาและความรู้สึกว่า "ประเทศนี้เป็นประเทศที่ดีหรือแย่" 

ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมใคร ๆ ก็อยากจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก เพราะถึงแม้อาจจะขาดทุนในแง่ของรายรับที่เป็นเงิน แต่หากวางแผนดี ๆ งบประมาณดังกล่าวก็สามารถเอามาพัฒนาประเทศในภาคส่วนต่าง ๆ สร้างเป็นมรดกในระยะยาวได้ บางประเทศสามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์ที่มีต่อสายตาชาวโลกได้เลย นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมในนครมิวนิค ประเทศเยอรมัน (เยอรมันตะวันตก ณ เวลานั้น) จึงหมายมั่นปั้นมือกับการแข่งขันโอลิมปิกปี 1972 เป็นอย่างมาก 

ก่อนหน้าโอลิมปิกครั้งดังกล่าว ประเทศเยอรมันถูกมองในแง่ลบเนื่องจากเคยถูกปกครองโดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ชายผู้สั่นสะเทือนทั้งโลกและมีบทบาทสำคัญในเรื่องราวของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว และแนวคิดชูอารยันที่สร้างความเกลียดชังแบบสุดโต่ง จนกลุ่มประเทศสัมพันธมิตร ผู้ชนะสงคราม ต้องแบ่งประเทศออกเป็นสองฟาก เยอรมันตะวันตก ที่ดูแลโดยสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ กับ เยอรมันตะวันออก ที่ดูแลโดยสหภาพโซเวียต หลังจากแดนอินทรีเหล็กพ่ายแพ้สงครามในปี 1945

นอกจากนี้ภาพจำในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกของเยอรมันก็ไม่ดีนักจากโอลิมปิกที่กรุงเบอร์ลิน ในปี 1936 ซึ่งฮิตเลอร์ใช้มหกรรมโอลิมปิกเป็นเวทีประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ของนาซีเยอรมันด้วยการโกงการแข่งขันและปฏิบัติต่อนักกีฬาต่างสีผิวและไม่ใช่ชาวอารยันอย่างไม่เท่าเทียม ตลอดจนการใช้อิทธิพลนอกสนามแทรกแซงการแข่งขัน รวมถึงการโฆษณาชวนเชื่อแบบเล่นใหญ่

เมื่อเยอรมันได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกอีกครั้งในปี 1972 ที่นครมิวนิค พวกเขาจึงมีความต้องการจะลบความเชื่อเหล่านั้นทิ้ง และบอกให้โลกรู้ว่า ประเทศแห่งนี้เปิดต้อนรับทุกคนทุกเชื้อชาติมากแค่ไหน และมีความตั้งใจที่จะทำให้ทุกอย่างที่เป็นสัญลักษณ์ของพรรคนาซีถูกลบทิ้งไปอย่างสิ้นเชิง 

นี่คือเยอรมันยุคใหม่ ยุคที่ทุกความแตกต่างจะอยู่ร่วมกันได้โดยไร้ความเกลียดชัง พวกเขาคิดเช่นนั้น แต่โชคร้ายที่บริบททางการเมืองไม่ได้ช่วยให้มันง่ายขึ้นเลย เพราะ 2 ประเทศที่ตีกันมาหลายชั่วอายุคนกำลังพัฒนาความเคียดแค้นมาถึงจุดพีกพอดิบพอดี ... อิสราเอล และ ปาเลสไตน์ ไม้เบื่อไม้เมาที่ตีกันแทบทุกเรื่อง ศาสนา, พรมแดน, การกดขี่ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ... และในโอลิมปิก มิวนิค 1972 เรื่องทั้งหมดก็เกิดขึ้นจากจุดนี้ 

 

ใช้โอลิมปิกเป็นเครื่องมือ 

ความบาดหมางระหว่าง อิสราเอล กับ ปาเลสไตน์ นั้นลุกลามมาเกี่ยวข้องกับโอลิมปิกที่มิวนิคได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากเยอรมันที่เป็นเจ้าภาพนั้นพยายามทำให้ภาพลักษณ์ของชาติตัวเองและการแข่งขันโอลิมปิกออกมาดูดี เต็มไปมิตรภาพ และผ่อนคลายมากที่สุด พวกเขาจึงยกเลิกกฎและมาตรการต่าง ๆ เพื่อความสะดวกสบายของทีมนักกีฬาที่มาแข่งขันให้ได้มีอิสระกันอย่างเต็มที่ในการใช้เวลาในหมู่บ้านนักกีฬา ซึ่งเป็นที่พักที่ฝ่ายจัดเตรียมไว้ให้พักอาศัยในทุกมหกรรมกีฬาขนาดใหญ่ครั้งนี้ 

การจัดเจ้าหน้าที่คอยเฝ้ายามตลอดเวลายังคงมีอยู่ แต่ปัญหาคือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในหมู่บ้านนักกีฬานั้นไม่มีอาวุธติดตัวเลย ซึ่งทางเยอรมันเชื่อว่าหากจัดการได้ดีการใช้ความรุนแรงก็ไม่จำเป็น เรื่องดังกล่าวทำให้ ชมูเอล ลัลกิน หัวหน้าคณะนักกีฬาของอิสราเอลใน โอลิมปิก มิวนิค 1972 ออกมาแสดงความไม่พอใจผ่านสื่อโดยเขาบอกว่า สัดส่วนของการ์ดที่ติดอาวุธนั้นมีน้อยมาก และนั่นอาจจะไม่เพียงพอและทันกาลหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมาจริง ๆ 

ฝั่งอิสราเอลพยายามเรียกร้องการคุ้มครองและเวรยามที่หนาแน่นและแข็งขันกว่านี้ เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว ความบาดหมางระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ กำลังดำเนินไปอย่างร้อนแรง ก่อนโอลิมปิก 1972 จะเริ่มปาเลสไตน์พยายามกดดันรัฐบาลอิสราเอลให้ปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์จำนวน 234 คนที่ถูกจับขังอยู่ในกรุงเยรูซาเลม เมืองหลวงของอิสราเอล อันเป็นดินแดนที่ปาเลสไตน์ก็อ้างสิทธิ์ถือครองเช่นกัน ซึ่งทางอิสราเอลก็ปฏิเสธการปล่อยตัวและยืนกรานอย่างแข็งขันแม้จะมีคำขู่มากมาย 

จากการไม่ปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์ ทำให้ปาเลสไตน์ได้ส่งจดหมายขู่ไปยังอิสราเอลว่าจะมีการวางระเบิดเกิดขึ้น เพียงแต่ว่าไม่ได้บอกว่าสถานที่ไหนและคนกลุ่มไหนของอิสราเอลที่ตกเป็นเป้า ปล่อยให้อิสราเอลต้องหวาดระแวงตลอดเวลา จนกระทั่งวันที่ 5 กันยายน 1972 ปาเลสไตน์ก็ลงมือตามคำขู่ที่พวกเขาได้ให้ไว้

เหตุการณ์ช็อกโลกในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก มิวนิค 1972 เกิดขึ้นในช่วงเวลาตี 4 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นักกีฬาทุกชาติกำลังพักผ่อน กลุ่มก่อการร้ายใช่ช่วงเวลานี้ปฏิบัติการด้วยเป้าหมายเดียว นั่นคือต้องการทำให้การก่อการร้ายครั้งนี้จะสามารถกดดันให้อิสราเอลปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์ ... และพวกเขาไม่เกี่ยงที่จะต้องใช้ความรุนแรง 

กลุ่มก่อการร้ายที่ลงมือใช้ชื่อกลุ่มว่า Black September ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการก่อการร้ายโดยเฉพาะ พวกเขาเคยทำเรื่องนี้สำเร็จมาแล้วกับการสังหาร นายกรัฐมนตรี วาสฟี ทัล ของจอร์แดนในปี 1971 นั่นคือตัวอย่างของความอันตรายของกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มนี้

กลุ่ม Black September บุกเข้าไปยังบ้านพักนักกีฬาของทีมชาติอิสราเอล จับตัวพวกเขาเหล่านั้นเป็นตัวประกันและเริ่มเล่นเกม "ชีวิตแลกชีวิต" ที่ฝ่ายไหนยอมก่อนหมายความว่าพวกเขาเป็นผู้แพ้ ซึ่งเหตุนี้เองที่ทำให้เหตุการณ์รุนแรงขึ้นเพราะไม่มีใครยอมใคร 

Black September สังหาร โมเซ เวียนเบิร์ก โค้ชของทีมมวยปล้ำ และ ยูสเซฟ โรมาโน่ นักยกน้ำหนักของอิสราเอล ที่พยายามต่อสู้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเอาจริงและใครขวางต้องตายสถานเดียว จนกระทั่งพวกเขาจับตัวประกันได้ 9 คน และเริ่มเจรจาขอแลกชีวิตนักกีฬาของอิสราเอลทั้ง 9 คนกับนักโทษชาวปาเลสไตน์ในอิสราเอล 234 คน 

แน่นอนว่าฝั่งอิสราเอลก็ไม่ยอม โกลดา เมียร์ นายกรัฐมนตรีของอิสราเอลในเวลานั้นยืนยันว่า "ถ้าเรายอมแพ้จะไม่มีชาวอิสราเอลคนไหนในโลกที่จะรู้สึกว่าชีวิตของพวกเขาปลอดภัยอีกเลย นี่คือการขู่และเล่นสกปรกที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์"   

จากนั้นเหตุการณ์ปะทะก็เริ่มขึ้น อิสราเอลได้ส่งกำลังรบฝีมือดีเข้ามายังประเทศเยอรมัน แต่ฝั่งเยอรมันไม่อนุญาตให้เข้าประเทศเนื่องจากพวกเขาไม่ต้องการให้เกิดเรื่องรุนแรงมากไปกว่านี้ เยอรมันยืนยันจะจัดการเรื่องนี้ด้วยตัวเองเพื่อกู้ภาพลักษณ์ของประเทศกลับมา พวกเขาส่งกำลังรบของตัวเองไปชิงตัวประกัน ทว่าฝั่ง Black September รู้ทัน และเมื่อมั่นใจว่าการเจรจาจะไม่เกิดขึ้น พวกเขาจึงเริ่มฆ่าตัวประกันทั้งหมดและยิงสู้จนหยดสุดท้าย เพราะมันคือสิ่งเดียวเท่านั้นที่พวกเขาทำได้นอกจากการยอมแพ้ 

การก่อการร้ายที่เริ่มต้นตั้งแต่ตี 4 ของวันที่ 5 กันยายน มาได้บทสรุปในเวลาตี 2 ของวันที่ 6 กันยายน เมื่อการดวลปืนสิ้นสุดลง สถานการณ์สงบ และการรายงานความเสียหายก็เริ่มขึ้น 

ผู้ก่อการร้ายเสียชีวิตไป 5 รอดชีวิตไป 3 จากการแกล้งตาย (ถูกจับหลังจากนั้นไม่นาน) ขณะที่เรื่องเศร้าคือตัวประกันทั้ง 9 คนไม่มีใครชีวิตรอดจากเหตุการณ์วันนั้น มีผู้เสียชีวิตของฝั่งอิสราเอลรวม 11 คน และยังมีตำรวจเยอรมันที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่อีก 1 คน สิริรวมมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 17 คน

 

เปลี่ยนโอลิมปิกไปตลอดกาล 

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ตัดสินใจหยุดการแข่งขันโอลิมปิก 1 วันเพื่อไว้อาลัยให้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนจะแข่งขันกันต่อจนจบได้ตามกำหนด 

แน่นอนว่าถึงจะให้มีการแข่งต่อ แต่ทุกฝ่ายก็ไม่มีอารมณ์จะแข่งขันหรือยินดีกันแล้วหลังจากเหตุการณ์รุนแรงระดับประวัติศาสตร์ครั้งนั้น 

นี่คือบทเรียนสำคัญที่สุดของเจ้าภาพโอลิมปิกและมนุษยชาติ เพราะหลังจาก มิวนิค 1972 มาตรการการรักษาความปลอดภัยในทุก ๆ พื้นที่ของการแข่งขันโอลิมปิกตั้งแต่สนามกีฬาจนถึงบ้านพักนักกีฬามีการทุ่มงบประมาณเพื่อส่วนนี้โดยเฉพาะ และกลายเป็นมาตรการ "บังคับ" ที่ชาติเจ้าภาพครั้งต่อ ๆ ไปต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด 

โอลิมปิกครั้งต่อไปในอีก 4 ปีต่อมาที่มอนทรีออล ประเทศแคนาดา เมื่อปี 1976 นั้น มีการตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายเรื่องการรักษาความปลอดภัยมากกว่าที่มิวนิคถึง 50 เท่า ส่วนครั้งที่มีการทุ่มทุนเรื่องนี้มากที่สุดคือโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในปี 2008 ครั้งนั้นจีนลงทุนกับระบบรักษาความปลอดภัยทั้งระบบเป็นเงินมากถึง 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว 

งบประมาณทั้งหมดถูกใช้ไปกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ทั้ง บุคลากร การเฝ้าระวัง อุปกรณ์ โครงสร้างพื้นฐาน และอื่น ๆ เพื่อให้โอลิมปิกยังคงเป็นมหกรรมกีฬาสำหรับมวลมนุษยชาติ ไม่ใช่เครื่องมือของความรุนแรงทางการเมือง และความแตกแยกของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด 

ถึงกระนั้นบางชาติและบางสมาคมก็เลือกที่จะดูแลนักกีฬาของพวกเขาด้วยตัวเอง อย่างในกรณีของทีมบาสเกตบอลชายของสหรัฐอเมริกา หรือ "ดรีมทีม" ที่สมาคมบาสเกตบอลสหรัฐฯ ตัดสินใจให้นักกีฬาไม่นอนในหมู่บ้านนักกีฬา แต่ไปเช่าโรงแรมแบบเหมาทั้งสถานที่ พร้อมจัดทีมรักษาความปลอดภัยเฉพาะมาตั้งแต่โอลิมปิก บาร์เซโลน่า 1992 เพื่อให้มั่นใจว่าเหล่าสตาร์จาก NBA ลีกบาสเกตบอลอันดับ 1 ของโลก จะได้รับความปลอดภัยสูงสุด

จริงอยู่ที่หลังจาก มิวนิค 1972 ไม่ได้มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นในโอลิมปิกบ่อยนัก แต่เรื่องของความปลอดภัยนั้นถือเป็นสิ่งที่ต้องลงทุน เพราะหากเกิดความผิดพลาดขึ้นอะไร ๆ ก็ไม่คุ้มกันอย่างแน่นอน 

แม้ในระยะหลัง ๆ การก่อการร้ายในโอลิมปิกหรือมหกรรมกีฬาอื่น ๆ จะลดน้อยถอยลงไป แต่การเตรียมการเรื่องความปลอดภัยนั้นไม่เคยลดลง มันคือเรื่องของการ "กันไว้ดีกว่าแก้" ที่จะทำให้การแข่งขันดำเนินไปอย่างเรียบร้อยอย่างที่ควรจะเป็น ... เรียกได้ว่า มิวนิค 1972 คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของโอลิมปิกและมหกรรมกีฬาต่าง ๆ ของโลกอย่างแท้จริง 

 

แหล่งอ้างอิง

https://au.sports.yahoo.com/israeli-olympic-athletes-murdered-in-munich-massacre-1972-054628743.html
https://www.timesofisrael.com/after-49-years-israeli-victims-of-1972-olympic-massacre-honored-at-tokyo-opener/
https://blogs.timesofisrael.com/remembering-the-munich-11/
https://www.bbc.com/news/world-asia-57924111
https://en.wikipedia.org/wiki/Munich_massacre
https://www.britannica.com/topic/Operation-Wrath-of-God
https://www.britannica.com/topic/Black-September-political-organization-Palestine

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น