Feature

การผูกขาดแชมป์ของ "เสือใต้" สู่ความเบื่อหน่ายของบุนเดสลีกา จริงหรือ ? | Main Stand

"บุนเดสลีกามีชื่อเสียงไปทั่วโลกว่าเป็นลีกที่น่าตื่นเต้นและเต็มไปด้วยนักเตะพรสวรรค์ แต่ทว่ามีหนึ่งอย่างที่คุณสามารถเดิมพันได้เลย นั่นคือ บาเยิร์น มิวนิค จะคว้าแชมป์ได้แน่นอน"

 

นี่คือคำกล่าวจาก นีล ชีลัต นักข่าวของ BUNDESLIGA LIVE ที่ระบุไว้เมื่อ ปี 2020 และดูเหมือนว่าเขาจะพูดถูกเพราะ 3 ปีหลังจากนั้น บาเยิร์น มิวนิค ก็ยังคงครองทำเนียบแชมป์บุนเดสลีกาสืบมา 

ตั้งแต่การคว้าแชมป์ของ "เสือใต้" ในฤดูกาล 2012/13 นับแต่นั้นเป็นต้นมา การผูกขาดในลีกเมืองเบียร์ก็ได้เริ่มต้นขึ้นและกินระยะเวลามากว่า 11 ปี จวบจนถึงฤดูกาลล่าสุด (2022/23) ก็ยังคงเป็น บาเยิร์น มิวนิค ที่เข้าวินคว้าแชมป์บุนเดสลีกาได้อีกเช่นเคย 

ส่งผลให้ลีกสูงสุดของเยอรมัน หนีไม่พ้นการเป็นภาพจำลีกแห่งการผูกขาดแชมป์ของ "เสือใต้" บาเยิร์น มิวนิค ที่ยึดทำเนียบแชมป์มา 11 ปีติดต่อกันแล้ว นั่นหมายความว่าช่วงระยะเวลาเกินกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ไม่มีทีมใดแม้แต่ทีมเดียวที่สามารถเข้ามาแทรกเปลี่ยนหน้าแชมป์ในลีกนี้ได้เลย และ แน่นอนว่าเมื่อมีการผูกขาด ความน่าเบื่อย่อมเกิดขึ้นในความคิดของแฟนบอล 

เหตุใด บาเยิร์น มิวนิค ถึงกลายเป็นมหาอำนาจลูกหนังแห่งเมืองเบียร์ อีกทั้งทำไมถึงไม่มีสโมสรใดล้มยักษ์ตัวนี้ได้เลย และในอนาคตจะมีทีมใดกลายเป็นแจ็คผู้ฆ่ายักษ์แห่งเยอรมันตัวนี้ได้บ้าง ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

 

แม้แต่สาวกเองยังเบื่อ

ครั้งหนึ่งแฟนบอลตัวยงของบาเยิร์น มิวนิค นามว่า เกรเกอร์ ไวน์ไรซ์ (Gregor Weinreich) ซึ่งเคยเป็นประธานกลุ่มหมายเลข 12 ซึ่งเป็นกลุ่มแฟนบอลบาเยิร์น ได้เปิดเผยกับนิตยสารชื่อดังอย่าง The New York Times ว่า ครั้งแรกที่เขาเฉลิมฉลองแชมป์กับการคว้าแชมป์ของทีม บาเยิร์น มิวนิค ในปี 1994 นั้น เขาวิ่งตะโกนโห่ร้องลั่นทั้งคืนกับแฟนบอลอีกนับร้อยที่จุดพลุไปทั่วสนามกีฬาโอลิมปิคเก่าของบาเยิร์น มิวนิค จวบจนดวงตะวันโผล่ขึ้นมาจากขอบฟ้า 

หลังจากนั้น 3 ปี เหตุการณ์แบบนี้ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง เขาย้ำว่าภาพในค่ำคืนนั้นทุกอย่างยังคงเด่นชัดและยังคงอบอุ่นในหัวใจเขาเสมอ แต่กลับกันในทางตรงกันข้าม ความทรงจำของการคว้าแชมป์ในปี 2014, 2015, 2016 และ 2017 ค่อย ๆ จางหายไป แม้ตัวเขาจะรู้ดีว่าบาเยิร์น มิวนิค สามารถคว้าแชมป์ได้ในฤดูกาลเหล่านั้นก็ตาม

"ถ้าคุณถามผมเกี่ยวกับความทรงจำในการคว้าแชมป์เหล่านั้น สารภาพตามตรงว่า มันแทบไม่เหลือเลย" เกรเกอร์ ไวน์ไรซ์ อดีตผู้นำเชียร์ บาเยิร์น มิวนิค กล่าว 

เป็นเวลาเกือบทศวรรษแล้วที่อดีตผู้นำเชียร์ท่านนี้ไม่ได้เตรียมการฉลองแชมป์ถึงเวลารุ่งสาง เพื่อสดุดีความยิ่งใหญ่ของสโมสรนี้ แม้แต่ เฮอร์เบิร์ต ไฮเนอร์ (Herbert Hainer) ประธานสโมสรของ บาเยิร์น มิวนิค ยังเคยออกมายอมรับว่าพวกเขาหมกมุ่นกับชัยชนะเกินไป ประหนึ่งว่าการเสพติดชัยชนะเหมือนกับการเสพติดบุหรี่ที่มันทำให้เรามีความสุขในห้วงเวลาสั้น ๆ แต่ในระยะยาว มันค่อย ๆ กัดกินและทำลายสุขภาพของเราอย่างช้า ๆ   

"บาเยิร์น หมกมุ่นอยู่แต่กับความสำเร็จ และจะไม่มีวันพอใจกับอันดับสอง จนบางครั้งผมคิดว่าอำนาจของเรากำลังเป็นพิษร้าย (Toxic) ต่อลีกอยู่หรือเปล่า ?" เฮอร์เบิร์ต ไฮเนอร์ ประธานบาเยิร์น กล่าวกับนิตยสาร Kicker เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022

 

เงินมหาศาลสร้างความเหลื่อมล้ำ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโลกแห่งทุนนิยมนั้นขับเคลื่อนด้วยเงินทุน องค์กรหรือสโมสรใดก็ตามที่มีแหล่งเงินทุนมากย่อมมีอำนาจต่อรองและได้เปรียบในการแข่งขันยิ่งในโลกฟุตบอลเงินทุนคือตัวแปรสำคัญ 

ปัจจุบันสโมสรบาเยิร์น มิวนิค มีมูลค่าทีมเป็นอันดับ 6 ของโลก เป็นอันดับที่ 1 ของลีก โดยมีมูลค่าทีมอยู่ที่ 4.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.7 แสนล้านบาท) เท่านั้นยังไม่พอรายได้ของทีมเสือใต้ในปีล่าสุดก็ครองอันดับหนึ่งของลีกเช่นกัน โดยมีรายได้อยู่ที่ 739 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.5 หมื่นล้านบาท) 

ด้วยมูลค่าทีมที่มากที่สุด อีกทั้งรายได้ในแต่ละปีก็มากที่สุดเช่นกัน ทำให้บาเยิร์น มิวนิค มีมูลค่าทีมนำห่างทีมที่มีมูลค่าทีมเป็นอันดับ 2 ของลีก อย่าง โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ แบบไม่เห็นฝุ่น โดยมูลค่าทีมของ "เสือเหลือง" โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ อยู่ที่ 1.93 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (6.7 หมื่นล้านบาท) เท่านั้น  

นั่นหมายความว่า ช่องว่างของความห่างนี้เป็นจำนวนเงินที่มากกว่ามูลค่าทีมของ ดอร์ทมุนด์ เองเสียอีก โดยความแตกต่างของมูลค่าทีมระหว่างบาเยิร์น มิวนิค กับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุน นั้นห่างกันถึง 2.93 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (1 แสนล้านบาท) และคงไม่ต้องถามถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างบาเยิร์น มิวนิค กับทีมอื่น ๆ

แม้ส่วนหนึ่ง ต้องชื่นชมทีมเสือใต้ ที่สามารถเดินหน้าเรื่องการตลาด บวกกับผลงานในสนามไปพร้อมกันจนเพิ่มมูลค่าสโมสรได้มหาศาล แต่อีกส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า "กฎ 50+1" เอกลักษณ์ของฟุตบอลเยอรมัน ที่ปิดกั้นการทุ่มเงินของมหาเศรษฐีจากทั่วโลกในการซื้อทีม เพื่อให้สโมสรยึดโยงกับแฟนบอล ทำให้ทีมอื่น ๆ ไม่อาจตามบาเยิร์นได้ทันการ 

 

เมื่อคู่แข่งต้องลดขนาดทีม

หากยังจำกันได้ในอดีตที่ผ่านมา โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ปล่อยนักเตะสตาร์ดังออกจากสโมสรเป็นจำนวนมาก นั่นทำให้ขนาดทีมไม่เคยใหญ่พอสำหรับคู่แข่งอย่าง บาเยิร์น มิวนิค เลย

ฤดูกาล 2022/23 ดอร์ทมุนด์ ขาย จู๊ด เบลลิงแฮม ให้กับ "ราชันชุดขาว" เรอัล มาดริด ย้อนไปอีกหนึ่งฤดูกาลก่อนหน้า ทีมเสือเหลืองปล่อยนักเตะบิ๊กเนมให้กับ "เรือใบสีฟ้า" แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถึงสองคน นั่นคือ เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ กับ มานูเอล อคานจี  รวมไปถึงการปล่อย โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ ไปให้คู่แข่งของตัวเอง อย่าง บาเยิร์น มิวนิค แบบไร้ค่าตัว เมื่อปี 2014 ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างนักเตะบางรายเท่านั้น นอกจากที่กล่าวมายังมีนักเตะคุณภาพอีกหลายรายที่ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ จำต้องปล่อยหลุดมือไปอย่างน่าเสียดาย ลองคิดภาพตามว่าหากสโมสรสามารถเก็บนักเตะที่กล่าวมาเหล่านี้ไว้ได้ ขุมกำลังของทัพเสือเหลืองอาจสามารถต่อกรกับบาเยิร์น มิวนิค ได้เหมือนดั่งในอดีต

ดูเหมือนว่าวิธีการทำทีมแบบซื้อมาขายไป เน้นการทำธุรกิจโดยหากำไรจากการขายนักเตะเป็นหลัก และ การปล่อยนักเตะหลุดมือไป ของ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ขุมกำลังของ "เสือเหลือง" มิอาจทัดเทียมขุมกำลังของ "เสือใต้" ได้ 

ยิ่งถ้ามองให้ลึกลงไปในแง่ของการแข่งขันทางธุรกิจ ดอร์ทมุนด์ ไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร พวกเขายังตามหลัง บาเยิร์น มิวนิค อยู่หลายขุม เพราะเมื่อเปรียบเทียบรายได้ที่ดอร์ทมุนด์สามารถทำได้ต่อปี โดยอ้างอิงจากเว็บไซต์การเงิน The Swiss Rumble แสดงให้เห็นถึงช่องว่างของรายได้ระหว่าง ดอร์ทมุน กับ บาเยิร์น มิวนิค ในรายงานระบุว่า ดอร์ทมุนด์มีรายได้ตามหลังอยู่ 326 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.1 หมื่นล้านบาท) มิหนำซ้ำเนื่องด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้สโมสรดอร์ทมุนด์ ต้องประสบปัญหาการเงินอย่างหนัก อีกทั้งยังเพิ่งฟื้นตัวกลับมามีกำไรได้ในปี 2023 นี้เอง 

 

บุนเดสลีกาไม่น่าเบื่ออย่างที่คิด

จริง ๆ แล้วฟุตบอลในลีกสูงสุดของประเทศเยอรมันนั้นไม่ได้น่าเบื่ออย่างที่ใครหลายคนคิด เพราะหากเราลองเจาะเข้าไปดูรูปเกมในแต่ละเกมแล้ว รูปเกมยังคงสู้กันสนุกสูสี ผลสกอร์ที่ออกมาก็ยิงกันเยอะพอสมควร โดยมีค่าเฉลี่ยสกอร์ต่อเกมสูงที่สุดในยุโรป และ หากเรามาดูในมิติของการมีส่วนร่วมระหว่างแฟนบอลกับสโมสร บุนเดสลีกาก็ไม่น้อยหน้าเมื่อเทียบกับลีกอื่น ๆ  

เพราะเมื่อดูจำนวนแฟนบอลต่อเกมในฤดูกาลล่าสุด บุนเดสลีกาเป็นลีกที่มีค่าเฉลี่ยผู้เข้าชมเกมฟุตบอลในสนามต่อเกมมากที่สุดในโลก เฉลี่ยอยู่ที่ 42,993 คนต่อเกม มากกว่าพรีเมียร์ ลีก อังกฤษ อันดับ 2 ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 40,217 คนต่อเกมในฤดูกาล 2022-23 อ้างอิงจาก Transfermarkt เว็บไซต์รวบสถิติที่ใหญ่ที่สุด

นอกจากนี้ สถิติจำนวนแฟนบอลโดยรวมจากทั่วโลกเผยให้เห็นว่าลีกแห่งนี้มีเป็นรองเพียงแค่ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ เท่านั้น ซึ่งยอดรวมแฟนบอลบุนเดสลีกาสูงถึง 13,155,894 คน หรือหากเรามองไปที่เวทียุโรปฤดูกาลปัจจุบันนี้ จะเห็นว่ามีทีมจากเยอรมันสามารถเข้าการเข้ารอบน็อกเอาต์ในรายการยูฟ่า แชมเปี้ยน ลีก ฤดูกาล 2023-24 ไปแล้วถึง 3 ทีม นั่น คือ บาเยิร์น มิวนิค, โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์, และ แอร์เบ ไลป์ซิก 

แต่ทว่าการลุ้นแชมป์ในลีกนี้ต่างหากที่ทำให้แฟนบอลไม่ตื่นเต้นอีกต่อไป เราปฏิเสธไม่ได้จริงว่า ๆ การมีแชมป์เป็นทีมเดิมทีมเดียวมันทำให้ความน่าตื่นเต้นน่าติดตามจากแฟนบอลทั่วโลกลดน้อยลงจริง ๆ แต่อย่างไรก็ตามหากดูในรายละเอียดยิบย่อยลีกเมืองเบียร์ก็ยังคงเป็นลีกที่มีเสน่ห์เช่นเดิม อีกทั้งประเทศไทยเองก็ได้รับสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดแบบถูกลิขสิทธิ์อย่างเป็นทางการให้แฟนบอลชาวไทยรับชมกันทุกสุดสัปดาห์

 

ความหวังแห่งการเปลี่ยนแปลง ?

ว่ากันว่าแนวทางการทำทีมของ ไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น กำลังสั่นคลอนมหาอำนาจเจ้าเก่าอย่าง บาเยิร์น มิวนิค เพราะ ณ เวลานี้ จ่าฝูงบุนเดสลีกา เยอรมัน ฤดูกาล 2023/2024 คือ ทีม "ห้างยา" ไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น ของ กุนซือมาดเนี้ยบ เจ้าของฉายา "คุณชายแห่งวงการลูกหนัง" ชาบี อลอนโซ่ 

"ความรู้ในเกมฟุตบอลของเขาสูงมาก เขาเล่นในสเปน อังกฤษ และเยอรมนี และ เขาได้รับการฝึกสอนโดย เป๊ป กวาร์ดิโอล่าที่บาเยิร์น , โดยตัวผมเอง (มูรินโญ่) กับ คาร์โล อันเชล็อตติในเรอัล มาดริด , และ โดยราฟาเอล เบนิเตซ ที่ลิเวอร์พูล ดังนั้นหากคุณรวบรวมทั้งหมดเข้าด้วยกัน ผมจะบอกว่าชาบีมีเหตุผลพอในการเป็นโค้ชที่ยอดเยี่ยม" คำชมถึง ชาบี อลอนโซ่ จากบรมกุนซือ โชเซ่ มูรินโญ่ 

ปัจจุบันบุนเดสลีกา เริ่มเตะไปแล้ว 12 นัด เขาพา "นายห้างขายยา" กวาดไปแล้ว 34 แต้ม แบบยังไม่แพ้ให้กับทีมใด นำ บาเยิร์น มิวนิค ทีมอันดับ 2 ของตาราง อยู่ 2 แต้ม โดยฤดูกาลนี้ สองทีมดังกล่าวได้โคจรมาพบกันแล้วในเลกแรก ผลการแข่งขันจบที่สกอร์ 2-2 แบ่งกันไปคนละแต้ม และหากย้อนไปฤดูกาลที่แล้วลูกทีมของ ชาบี อลอนโซ่ สามารถเอาชนะ บาเยิร์น มิวนิค ด้วยสกอร์ 2-1 และกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ทีมเสือใต้ต้องปลด ยูเลี่ยน นาเกลส์มันน์ ออกจากตำแหน่งเฮดโค้ช ก่อน โธมัส ทูเคิ่ล เข้ารับงานต่อกระทั่งทุกวันนี้

แม้เส้นทางลุ้นแชมป์ของไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น นั้นยังมีอีกยาวไกลนัก แต่หากว่ากันตามเนื้อผ้าแล้วถือว่า ชาบี อลอนโซ่ เริ่มต้นฤดูกาลได้ดีเกินคาด ด้วยรูปแบบการทำทีม 3-4-2-1 ผนวกกับขุมกำลังคุณภาพที่เขาได้เข้ามาเสริมทัพ อย่างการมาของ กรานิท ชาก้า ที่ถูกเปลี่ยนบทบาทจากสมัยเล่นอยู่อาร์เซนอล ย้ายมาเล่นในตำแหน่ง หมายเลข 6 ที่เลเวอร์คูเซ่น นอกจากนี้ยังมี อเล็กซ์ กรีมัลโด้ จาก เบนฟิก้า , กองหน้าฟอร์มร้อนแรงอย่าง วิกเตอร์ โบนิเฟซ ที่ซัดไปแล้ว 11 ประตูจากทุกรายการ  อีกทั้งยังมีขุมกำลังเดิมอย่าง เจเรมี่ ฟริมปง , ฟลอเรียน เวิร์ตซ์ และ เอ็ดมอนด์ แท็ปโซบา ปราการหลังชาวบูร์กินา-ฟาโซ 

หรือว่า ไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น ของ ชาบี อลอนโซ่ กำลังเป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหม่แห่งทศวรรษของศึกบุนเดสลีกา ?

 

แหล่งอ้างอิง

https://bundesligalive.com/are-bayern-munich-really-making-german-football-boring/
https://www.reuters.com/article/uk-soccer-germany-bundesliga-analysis-idUKBREA1P1AT20140226/
https://sportsbrief.com/football/10163-which-richest-football-club-world/
https://theathletic.com/3129118/2022/02/15/bayern-dominance-toxic-bundesliga-play-offs-football/
https://www.bundesliga.com/en/bundesliga/news/xabi-alonso-bayer-leverkusen-tactics-25350
https://www.nytimes.com/2022/04/22/sports/soccer/bayern-dortmund-bundesliga.html
https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-12071877/Jose-Mourinho-knew-Xabi-Alonso-good-coach-meet-Europa-League-semi-final.html
https://onefootball.com/en/news/top-10-best-attended-leagues-in-the-world-revealed-17133211
https://www.eurosport.com/football/bundesliga/2011-2012/german-public-frets-over-boring-bundesliga_sto4153143/story.shtml
https://swissramble.substack.com/p/borussia-dortmund-finances-202223

Author

มูซอลลีน มะลิวัลย์

“เด็กจากแดนด้ามขวาน แต่มาจบป.ตรีที่ล้านนา ปัจจุบันใช้ชีวิต ณ เมืองบางกอก”

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ