Feature

ซิโก้ : ยอดนักเตะบราซิล และครูผู้ทำให้ฟุตบอลญี่ปุ่นได้รู้จักกับคำว่า “มืออาชีพ” | Main Stand

ญี่ปุ่น คือหนึ่งในทีมจากทวีปเอเชียที่สามารถคว้าตั๋วไปลุยฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้ทุกสมัย นับตั้งแต่ที่พวกเขาผ่านเข้ามาเล่นในรายการนี้ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในปี 1998

 


ซึ่งเหตุผลที่พวกเขาสามารถทำได้เช่นนั้น นอกจากแผนงานที่ถูกวางเอาไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนแล้ว ยังรวมไปถึงการดึงบุคลากรในโลกลูกหนังที่มากไปด้วยฝีมือจากต่างประเทศเข้ามาช่วยวางรากฐานฟุตบอลที่มั่นคงให้กับพวกเขา
 
และหนี่งในคนเหล่านั้นก็มียอดนักเตะทีมชาติบราซิลอย่าง อาตูร์ อันตูเนส โคอิมบรา หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ซิโก้" ที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการทำให้วงการฟุตบอลญี่ปุ่นได้เข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำว่า “มืออาชีพ”

อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ดาวเตะทีมชาติบราซิลรายนี้ข้ามน้ำข้ามทะเลจากบ้านเกิด เข้ามาถ่ายทอดสิ่งสำคัญที่สุดให้กับฟุตบอลญี่ปุ่น ติดตามได้ที่นี่ Main Stand

 

แข้งผู้ยิ่งใหญ่ในบ้านเกิด

เมื่อนึกถึงนักเตะในวงการฟุตบอลบราซิล แน่นอนว่าชื่อแรก ๆ ที่จะปรากฏขึ้นมาในหัวของเราคงหนีไม่พ้น “เปเล่” ตำนานดาวยิงทีมชาติบราซิล อย่างไรก็ดี ยังมีนักเตะอีกคนที่มีฝีเท้าเจนจัดไม่แพ้กัน จนใครหลาย ๆ คนต่างมอบสมญานามแก่แข้งรายนี้ว่า “เปเล่ขาว” และชื่อของเขาก็คือ “ซิโก้” นั่นเอง

อาตูร์ อันตูเนส โคอิมบรา หรือ ซิโก้ เกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1953 ณ เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ตัวเขานั้นก็ไม่ต่างจากเด็กหนุ่มชาวบราซิลแทบทุกคนที่หลงใหลในมนต์เสน่ห์ของฟุตบอล ที่มีความฝันอยู่ในใจมาตั้งแต่ยังเล็กว่าตัวเองจะต้องก้าวไปสู่การเป็นยอดนักเตะของบ้านเกิด รวมถึงโลกใบนี้ให้ได้ในสักวัน

เขามีทักษะการเล่นฟุตบอลที่ดีมาตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยสรีระร่างกายที่เล็กและผอมบางทำให้ไม่มีสโมสรฟุตบอลอาชีพทีมไหน อยากจะรับซิโก้เข้ามาร่วมทีมเยาวชนของพวกเขา แต่แล้ววันหนึ่ง ความสามารถในเกมลูกหนังของเขาก็ไปดึงดูดสายตาของนักข่าววิทยุคนหนึ่งที่ชื่อ เซลโซ การ์เซีย และได้ชวนให้ซิโก้ในวัย 14 ปีไปทดสอบฝีเท้ากับทางสโมสรฟลาเมงโก้ และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ก้าวแรกในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพของเขาเริ่มปรากฏให้เห็นภาพ

“การค้นพบนักเตะอย่าง ซิโก้ คือความภาคภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของผม” Sambafoot สื่อฟุตบอลในบราซิล เผยคำสัมภาษณ์ที่ เซลโซ การ์เซีย เคยกล่าวถึงซิโก้

“ผมเป็นเพียงแค่คนพาซิโก้มาทดสอบฝีเท้าที่ฟลาเมงโก้ ส่วนเรื่องราวจากนั้นเขาเป็นคนสร้างมันขึ้นมาเอง”

หลังผ่านการทดสอบฝีเท้ากับฟลาเมงโก้ และได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในทีมเยาวชนของสโมสรแห่งนี้ แน่นอนว่าปัญหาแรกที่เขาจะต้องเจอสำหรับการเป็นนักเตะของทีมฟุตบอลอาชีพครั้งแรกคือเรื่องสรีระร่างกายที่ด้อยกว่าคนอื่น ๆ ซึ่งเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเร่งสร้างร่างกายให้ได้ตามมาตรฐานที่สโมสรต้องการ ซึ่งมันก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคที่ยากเย็นแสนเข็ญสำหรับเขาแต่อย่างใด

พอปัญหาเรื่องสภาพร่างกายที่ไม่ได้ตามเกณฑ์ของสโมสรหมดไป ก็ถึงเวลาที่ซิโก้จะได้ใส่สุดไปกับการขัดเกลาฝีเท้าของตัวเอง ภายใต้การลงเล่นให้กับทีมเยาวชนของฟลาเมงโก้ เขาใช้เวลา 4 ปีไปกับการวาดลวดลายลูกหนังในเวทีการแข่งขันของทีมชุดเล็ก ก่อนจะได้เทิร์นโปรขึ้นเป็นนักฟุตบอลอาชีพอย่างเต็มตัวและก้าวขึ้นสู่การเป็นนักเตะในทีมชุดใหญ่ของฟลาเมงโก้ ด้วยวัย 18 ปี ในปี 1971

จากแข้งดาวรุ่ง ซิโก้ได้พัฒนาตัวเองขึ้นเป็นมิดฟิลด์ตัวรุกฝีเท้าฉมังของทีม พร้อมกับพาฟลาเมงโก้กวาดแชมป์รายการต่าง ๆ ภายในประเทศได้อย่างมากมาย ทั้งแชมป์ในระดับเมืองริโอ เดอ จาเนโร 7 ครั้ง, แชมป์ลีกสูงสุดของประเทศ 3 ครั้ง

และโดยเฉพาะในปี 1981 ที่เขาไม่เพียงแต่จะพาทีมพุ่งชนความสำเร็จกับการแข่งขันภายในประเทศอย่างเดียว เขายังสามารถพาทีมคว้าแชมป์ในระดับทวีปได้สำเร็จ และกลายเป็นการคว้าทริปเปิ้ลแชมป์ของทีมในปีนั้น ประกอบไปด้วยแชมป์ลีกสูงสุดของบราซิล, แชมป์โคปา ลิเบอร์ตาดอเรส และปิดท้ายด้วยแชมป์อินเตอร์คอนติเนนตัล คัพ ที่เป็นการแข่งขันระหว่างทีมแชมป์ยูฟ่า แชมป์เปี้ยนส์ ลีก กับทีมแชมป์โคปา ลิเบอร์ตาดอเรส 

เรียกได้ว่าซิโก้นั้นเป็นหนึ่งในนักเตะที่สามารถคว้าถ้วยรางวัลทุกรายการในนามของสโมสรฟลาเมงโก้มาครอบครองได้ทั้งหมด ทั้งแชมป์ในระดับประเทศและทวีป

หลังจากโลดแล่นอยู่กับฟลาเมงโก้มาตลอด 12 ปีตั้งแต่ครั้งแรกที่ก้าวขึ้นมาเล่นในทีมชุดใหญ่ด้วยวัย 18 จนเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยเลขสาม เขาก็ได้ตัดสินใจที่จะออกเดินทางเพื่อตามหาความท้าทายใหม่ ๆ กับการเล่นฟุตบอลในลีกต่างแดน แล้วก็เป็น อูดิเนเซ่ ทีมในกัลโช่ เซเรีย อา ของอิตาลี ที่ซิโก้เลือกเป็นสโมสรต่อไปที่อยากจะลงเล่นด้วย

เขาได้ฝากผลงานที่น่าพอใจระหว่างการลงเล่นในลีกอิตาลีเป็นเวลา 2 ปี ด้วยการลงสนามไปทัั้งสิ้น 55 นัด ยิงไป 30 ประตู จากนั้นสุดท้ายซิโก้ก็มากลับค้าแข้งในช่วงปั้นปลายอาชีพของตัวเองกับต้นสังกัดเก่าอย่างฟลาเมงโก้อีกครั้ง ในปี 1985-1989 ก่อนจะแขวนสตั๊ดไปด้วยวัย 36 ปี เพื่อเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกีฬาของประเทศบราซิล ที่ เฟร์นันโด คอลเลอร์ เดอ เมลโญ ประธานาธิบดีของบราซิลในตอนนั้นเป็นคนมอบให้

อย่างไรก็ตาม หลังจากซิโก้ประกาศแขวนสตั๊ดไปเป็นเวลากว่า 2 ปี เขาก็ได้ตัดสินใจหยิบสตั๊ดของตัวเองออกมาจากตู้รองเท้าเพื่อนำมาสวมลงสนามแข่งขันอีกครั้ง เพียงแต่ว่าการค้าแข้งในครั้งนี้ของซิโก้จะอยู่ในดินแดนอีกฟากหนึ่งที่อยู่ห่างไกลจากบ้านเกิดของเขาเป็นอย่างมาก นั่นคือ ประเทศญี่ปุ่น

 

ตำนานบทใหม่ ณ แดนปลาดิบ

สองปีหลังห่างหายจากการลงเล่นฟุตบอล ซิโก้ได้รับภารกิจจากทาง เฟร์นันโด คอลเลอร์ เดอ เมลโญ ให้เดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อช่วยวางรากฐานให้กับฟุตบอลของประเทศแห่งนี้ หลังจากญี่ปุ่นกำลังจะก่อตั้งลีกฟุตบอลอาชีพแห่งแรกของพวกเขาในปี 1992

โดยเหตุผลที่ทางประธานาธิบดีของบราซิลต้องการให้ซิโก้ไปช่วยวางรากฐานให้กับฟุตบอลญี่ปุ่นนั้น เป็นเพราะความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศที่มีมาตั้งแต่ในช่วงยุคปลายเมจิ (ค.ศ. 1868-1912)

ซิโก้เดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อร่วมงานในฐานะนักฟุตบอลกับทาง ซูมิโตโมะ สตีล (คาชิมา แอนท์เลอร์ส ในปัจจุบัน) ที่ตอนนั้นอยู่ในเจแปน ซอคเกอร์ลีก 2 หรือลีกรองของญี่ปุ่นในเวลานั้น และได้แสดงให้เห็นถึงคุณภาพที่มีอยู่ในตัวของนักฟุตบอลอาชีพ ด้วยการทำไป 21 ประตูใน 22 นัด พร้อมคว้าตำแหน่งดาวซัลโวของลีก และในปี 1991 ก็พาทีมเลื่อนชั้นขึ้นสู่เจลีก ในฐานะรองแชมป์ลีกรอง

จากนั้นในปี 1992 ซึ่งเป็นปีที่ฤดูกาลแรกของเจลีกได้เปิดฉากขึ้น ในเกมนัดเปิดสนาม ซิโก้ก็ได้ทำแฮตทริกในเกมดังกล่าว ซึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนั้นมันก็ทำให้คนญี่ปุ่นเริ่มสนใจในตัวเขาขึ้นมาทันที

 “ทุกการกระทำของผมถูกจับตามองโดยผู้คนที่นั่น หลังผมทำแฮตทริกได้สำเร็จตั้งแต่เกมนัดแรก” ซิโก้ กล่าวถึงสิ่งที่ต้องเจอหลังระเบิดฟอร์มในเกมนัดเปิดสนามของทีมในเจลีก

ซิโก้ในวัยเกือบจะ 40 ปีพร้อมกับเพื่อนร่วมทีมซูมิโตโมะ สตีล ที่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น คาชิมา แอนท์เลอร์ส แล้วเรียบร้อย ก็ได้ร่วมมือกันพยายามเก็บชัยชนะให้ได้ในทุก ๆ เกม ด้วยความต้องการจะเป็นแชมป์เจลีกให้ได้เป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์ ก่อนที่สุดท้ายพวกเขาจะจบฤดูกาลแรกในเจลีกด้วยการเป็นรองแชมป์ ซึ่งถือว่าเกินความคาดหวังที่พวกเขาได้ตั้งไว้ในตอนแรกเป็นอย่างมาก

หลังจากที่พาทีมโลดแล่นบนเวทีลีกสูงสุดของญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ซิโก้ก็ได้เห็นแล้วว่าผู้คนในวงการฟุตบอลญี่ปุ่นนั้นต่างมีทัศนคติที่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งกับการเรียนรู้เพื่อที่จะประพฤติตัวให้เหมือนกับมืออาชีพ เนื่องจากพวกเขาต่างก็ให้ความเคารพและพร้อมเชื่อฟังคำแนะนำของซิโก้อยู่เสมอ ตามคำร้องขอของ คาชิม่า แอนท์เลอร์ส ที่อยากให้เขาเข้ามาช่วยวางรากฐานที่ถูกต้องกับทีม รวมถึงวงการฟุตบอลญี่ปุ่น

ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้ซิโก้มีไฟที่อยากจะลองสร้างฟุตบอลญี่ปุ่นขึ้นมาให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ตามแบบฉบับที่ตัวเขาต้องการ

"พวกเขาอยากจะเป็นมืออาชีพ แต่พวกเขาไม่รู้ว่าจะทำมันได้อย่างไร เพราะฉะนั้นผมจะเป็นคนสอนพวกเขาเอง" ซิโก้ กล่าวถึงวงการฟุตบอลญี่ปุ่นที่กำลังอยู่ในช่วงก่อตั้งลีกอาชีพ

 

ถ่ายทอดความเป็นมืออาชีพ

เมื่อย่างเข้าวัย 40 ปี ซิโก้ก็ได้หันจากการเป็นนักเตะมาทำงานในบทบาทของผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคให้กับทาง คาชิมา แอนท์เลอร์ส ในปี 1994 เพื่อที่จะได้เต็มที่กับการวางรากฐานอย่างที่ควรจะเป็นให้กับทีม โดยเขาจะเข้าไปให้คำแนะนำกับบุคลากรทุกภาคส่วนในทีมว่าควรจะทำอย่างไรเพื่อให้ทีมฟุตบอลของพวกเขาก้าวสู่การเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพอย่างแท้จริง

การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งใน คาชิมา แอนท์เลอร์ส ของซิโก้ด้วยบทบาทของผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคได้ทำให้สโมสรฟุตบอลแห่งนี้พัฒนาขึ้นมาเป็นทีมที่แข็งแกร่งอันดับต้น ๆ ในประเทศ ผ่านการพยายามถ่ายทอดประสบการณ์และวิชาความรู้ด้านฟุตบอลทั้งหมดที่ซิโก้มีให้กับพวกเขา

“ผมจะวางแนวทางที่ถูกต้องทิ้งเอาไว้แล้วปล่อยให้พวกเขาหยิบไปใช้ด้วยตัวเอง ให้ลองคิดดูว่าทำไมวิธีนี้ถึงถูกต้อง มันทำให้คาชิมาพัฒนาขึ้นมาเป็นทีมใหญ่ คว้าแชมป์และชนะคู่แข่งได้อยู่ตลอด ผมรู้สึกภูมิใจมากที่ได้ช่วยพวกเขามาตั้งแต่ตอนเริ่มต้น” ซิโก้ กล่าวถึงวิธีการสร้างความเป็นมืออาชีพให้กับฟุตบอลญี่ปุ่น

“ผมพร้อมเสมอที่จะให้คำแนะนำพวกเขาไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม จะใช้เวลานานแค่ไหนผมก็จะอยู่ช่วยพวกเขา ผมตระหนักดีถึงเรื่องนี้”

นอกจากนี้ คำแนะนำต่าง ๆ ของซิโก้ที่ทำให้ คาชิมา แอนท์เลอร์ส กลายเป็นสโมสรฟุตบอลที่เพียบพร้อมไปด้วยความเป็นมืออาชีพได้นั้นก็ถูกเผยแพร่ไปยังสโมสรฟุตบอลทีมอื่น ๆ ให้ลองนำไปทำตามด้วยเช่นกัน ซึ่งตัวซิโก้เองก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งกับการที่ทุก ๆ สโมสรฟุตบอลในญี่ปุ่นจะเข้าใกล้กับการเป็นมืออาชีพมากขึ้น

“เมื่อตอนที่ผมเดินทางมาญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ผู้คนที่นี่ต่างให้ความเคารพผม และพร้อมจะเชื่อฟังคำแนะนำของผมเสมอ ราวกับพวกเขาเป็นลูกศิษย์ที่น้อมรับคำสอนของอาจารย์” 

“นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมอยากจะถ่ายทอดความรู้ด้านฟุตบอลทั้งหมดที่ผมมีให้กับพวกเขา ซึ่งถือว่าเป็นการตอบแทนที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อตัวผม” ซิโก้ กล่าวถึงความประทับใจที่ตัวเองมีต่อผู้คนที่อยู่ในวงการฟุตบอลญี่ปุ่น กับทาง Shueisha

การกระทำของซิโก้ในการแนะนำแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสมให้กับฟุตบอลญี่ปุ่น มันได้ทำให้ชาวญี่ปุ่นต่างยกย่องยอดนักเตะบราซิลรายนี้เป็นบุคคลสำคัญที่มาช่วยพัฒนาวงการฟุตบอลญี่ปุ่น และได้มอบสมญานามกับซิโก้ว่าเป็น “พระเจ้าแห่งวงการฟุตบอล” (Sakka no Kamisama : サッカーの神様)

และแน่นอนว่าคำแนะนำและคำสั่งสอนต่าง ๆ ที่ซิโก้ได้มอบให้กับวงการฟุตบอลญี่ปุ่นในช่วงเวลาที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่ความเป็นมืออาชีพใหม่ ๆ มันก็ได้กลายเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นสามารถพัฒนาตัวเองจนกลายมาเป็นชาติอันดับต้น ๆ ของทวีปเอเชียในเรื่องฟุตบอล ณ เวลานี้

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.sambafoot.com/fr/informations/11327_zico_perd_son_mentor.html
https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-7790281/Brazil-legend-Zico-working-United-life-Japan-chasing-selfie-Klopp.html
https://www.goal.com/en/news/zico-brazilian-idol-and-the-godfather-of-japanese-football/1fg6e56voknro10hplecvw6uyt
https://www.nippon.com/en/features/h00051/
https://sportiva.shueisha.co.jp/clm/football/jleague_other/2022/10/08/post_157/
https://sportiva.shueisha.co.jp/clm/football/jleague_other/2022/11/11/post_178/index_3.php
https://real-sports.jp/page/articles/340405742647378966

Author

อิสรา อิ่มเจริญ

ชายผู้สนใจญี่ปุ่นเพียงเพราะได้ดูฟุตบอลเจลีก โปรดปรานข้าวไข่เจียวเป็นที่สุด

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

ชื่นชอบกีฬาฟุตบอล แต่ตอนนี้หลงไหล " ว่าย ปั่น วิ่ง "

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ