หลายฝ่ายในวงการฟุตบอล กดดันให้ไทยปล่อยตัวฮาคีม ไม่ว่าจะเป็นนักฟุตบอลชื่อดังอย่าง เจมี วาร์ดี, จอร์โจ คิเอลลินี, ร็อบบี ฟาวเลอร์ หรือสมาคมฟุตบอลออสเตเลีย ไปจนถึงสมาคมระดับนานาชาติอย่างฟิฟโปร และฟีฟ่า
เมื่อฟีฟ่าส่งจดหมายร้องขอให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวฮาคีม อาจทำให้หลายฝ่ายเกิดความวิตก ว่านี่คือคำเตือนของฟีฟ่าต่อวงการฟุตบอลไทย และอาจนำไปสู่การแบนทีมชาติไทย เหมือนในกรณีที่เคยเกิดขึ้น ที่มีหน่วยงานทางการเมืองเข้ามายุ่งเรื่องของฟุตบอล
Main Stand จะพาไปย้อนดูกรณีศึกษาในอดีต ที่ฟีฟ่าเคยสั่งแบนหลายประเทศ ที่เอาเรื่องการเมืองไปยุ่งกับฟุตบอล เพื่อย้อนกลับมามองว่าไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกแบนหรือไม่ ในกรณีของนายฮาคีม
สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ หรือ ฟีฟ่า (FIFA) มีความพยายามมาโดยตลอด ถึงการขีดเส้นแบ่งเรื่องระหว่าง “ฟุตบอล” กับ “การเมือง” ไม่ให้เกี่ยวข้องกัน
หากมีเหตุการณ์ที่รัฐบาล หรือผู้มีอำนาจทางการเมืองของแต่ละประเทศ พยายามแทรกแซงสมาคมหรือการแข่งขันฟุตบอลในประเทศ ฟีฟ่ามักมีบทลงโทษแก่ประเทศนั้น และโทษร้ายแรงที่สุดคือการแบน ซึ่งทำให้ประเทศที่ถูกแบนไม่สามารถลงแข่งรายการฟุตบอลระดับชาติที่ฟีฟ่ารับรอง
เมื่อย้อนดูเหตุการณ์ในอดีต จะพบว่าหลายครั้งฟีฟ่าลงมืออย่างเอาจริงเอาจัง กับหลายชาติที่สถาบันทางการเมืองเข้ามายุ่งกับวงการฟุตบอลและโดนลงโทษไปตามระเบียบ
ชาติที่ถือเป็นขาประจำกับการถูกฟีฟ่าแบนคือ ไนจีเรีย ที่เริ่มโดนแบนครั้งแรกในปี 1996 เพราะรัฐบาลไนจีเรียสั่งถอนทีมชาติจากการแข่งขัน แอฟริกัน เนชันส์ คัพ ในปีนั้นที่จัดขึ้นแอฟริกาใต้ เพื่อประท้วงรัฐบาลแอฟริกาใต้ ที่ปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการ ผลคือถูกฟีฟ่าแบนไป 2 ปี
จากนั้นในปี 2010 รัฐบาลไนจีเรียออกคำสั่งถอนทีมชาติจากการแข่งขันนานาชาติและเพิกเฉยต่อคำเตือนของฟีฟ่า ทำให้ถูกฟีฟ่าแบนอีกครั้ง
และอีกครั้งที่ในจีเรียถูกฟีฟ่าแบนในปี 2014 หลังศาลในประเทศสั่งให้กระทรวงกีฬาเข้ามาแทรกแซงการทำงานของสมาคมฟุตบอล
หรือในกรณีที่แฟนบอลชาวไทยรู้จักกันดีคือประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งถูกฟีฟ่าสั่งแบนในปี 2015 เนื่องจากกระทรวงกีฬาของประเทศร่วมภูมิภาคของเรา สั่งยุติการแข่งขันฟุตบอลลีกในประเทศ ทำให้ฟีฟ่ามองว่าเป็นการใช้อำนาจทางการเมืองแทรกแซงเรื่องของฟุตบอล จนถูกสั่งแบนในท้ายที่สุด
มีชาติหลายประเทศทั่วโลก จากแทบทุกภูมิภาค ที่เรียงหน้าโดนฟีฟ่าแบนอย่างต่อเนื่อง จากการกรณีเดียวกัน คือสถาบันทางการเมืองแทรกแซงการทำงานของสมาคมฟุตบอลในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อิรักในปี 2009, บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาในปี 2011, คูเวตและปากีสถานในปี 2017 และ กัวเตมาลาในปี 2018
แม้กระทั่งชาติมหาอำนาจฟุตบอลอย่างสเปนยังเฉียด ที่จะถูกแบนโดยฟีฟ่า หลังมีการฟ้องร้องว่ารัฐบาล และศาลสเปนเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
เนื่องจากในปี 2017 อังเคล มาเรีย บียาร์ นายกลูกเมืองกระทิงดุถูกถอดออกจากตำแหน่ง และทางรัฐบาลมีความต้องการจะให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว จนฟีฟ่าต้องออกโรงเตือนสเปนในการกระทำรอบนี้
อย่างไรก็ดีทางสมาคมฟุตบอลสเปนและฟีฟ่า ได้หาทางไกล่เกลี่ยจนลงตัว ทำให้สเปนรอดพ้นการถูกแบนในที่สุด
หากมองในกรณีของฮาคีม ซึ่งเป็นเรื่องของฟุตบอลกับสิทธิมนุษยชนแล้ว มีเคสหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือเพื่อนบ้านของเรา ประเทศมาเลเซีย ที่เกือบถูกฟีฟ่าสั่งแบน ด้วยเรื่องลักษณะนี้
นั่นคือช่วงปลายปี 2016 มาเลเซียประกาศขู่ถอนตัวจากการแข่งขันฟุตบอลเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ ที่ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งเป็นเจ้าภาพ(ร่วม) เพื่อประท้วงการกระทำของรัฐบาลเมียนมาร์ที่มีพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้อพยพชาวโรฮิงญา
ทำให้ฟีฟ่าต้องส่งคำเตือน ห้ามไม่ให้มาเลเซียถอนตัวจากการแข่งขันฟุตบอลประจำภูมิภาคอาเซียนเด็ดขาด หากฝ่าฝืนถอนตัวจะถูกแบนทันที ทำให้สุดท้ายมาเลเซียต้องยอม ไม่ถอนทีมชาติออกจากการแข่งขันซูซูกิ คัพ
เห็นได้ว่าฟีฟ่ามีความเอาจริงเอาจัง กับประเทศสมาชิกหากดึงการเมืองให้มายุ่งเกี่ยวกับฟุตบอล กระนั้นไม่ใช่ว่าทุกครั้งที่ฟีฟ่าเข้าไปสั่งแบนชาติสมาชิก ยามมีการเเทรกแซงเรื่องของฟุตบอลจากรัฐบาลในประเทศ
แม้ฟีฟ่าจะจัดการกับทุกชาติที่รัฐบาลเข้าไปยุ่งย่ามกับกิจกรรมทางฟุตบอลในประเทศ แต่หากมีเหตุและผล(ประโยชน์)ที่เพียงพอ อาจทำให้ฟีฟ่าไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
ความเกี่ยวข้องระหว่างรัฐบาลจีนกับวงการฟุตบอลในประเทศของตัวเอง เป็นกรณีที่น่าสนใจและได้รับการหยิบยกมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง จากสื่อชาติตะวันตก
ที่เมืองจีนมีการแต่งตั้งคนของรัฐบาลเข้าไปนั่งในกลุ่มผู้บริหารของสมาคมฟุตบอล หรือในกรณีของ ไช่ เจิ้นหัว อดีตประธานนายกสมาคมของจีน ที่เข้ารับตำแหน่งทั้งที่เป็นรองผู้อำนวยการของกรมกีฬาอยู่ ซึ่งโดยปกติแล้ว ถือเป็นการเอาคนของรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงการทำงานของสมาคมฟุตบอล ที่ต้องเป็นอิสระจากรัฐ
ทว่าจากกรณีของจีน ฟีฟ่าไม่ได้ออกคำขู่ว่าจะแบนจีนจากการแข่งขันของฟีฟ่า หรือส่งคำเตือนใดๆให้กับจีน ทำให้นักวิชาการฟุตบอลหลายคนออกมาถก ว่ามีเหตุผลใดที่ทำให้ฟีฟ่าปิดตาให้กับการกระทำของจีน
เหตุผลแรกที่ถูกพูดถึง คือธรรมชาติตามระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ซึ่งถูกใช้ในเมืองจีน ที่รัฐมีอิทธิพลในทุกด้านของประเทศ ไม่ใช่แค่กีฬาฟุตบอลเท่านั้น ที่รัฐบาลจีนเข้าไปมีบทบาท แต่ยังรวมถึงกีฬาชนิดอื่นในแดนมังกร
ดังนั้น การเข้าแทรกแซงของรัฐบาลจีนต่อวงการฟุตบอลในประเทศ ถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติที่ต้องเกิดขึ้นในประเทศจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ฟีฟ่าต้องยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศจีน
อีกเหตุผลคือเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจ ทุกวันนี้เม็ดเงินจากเมืองจีนหมุนเวียนอยู่โลกฟุตบอลจำนวนมากทั้งในระดับทีมชาติ ที่หลายบริษัทจากจีนให้การสนับสนุนฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ของฟีฟ่ามาตลอด หรือระดับสโมสรที่เศรษฐีเมืองจีนจำนวนมากเป็นเจ้าของสโมสรดังทั่วยุโรป
หากฟีฟ่าเลือกลงโทษแบนจีนออกจากวงการฟุตบอล อาจส่งผลกระทบมหาศาลไปทั่ววงการฟุตบอล ดังนั้นถ้ามองอย่างถึงเรื่องธุรกิจเป็นสำคัญก่อน ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากจีนรอดพ้นจากการถูกแบนของฟีฟ่า
Photo : www.yicaiglobal.com
นอกจากนี้ หากมองย้อนไปช่วงปี 2012-2013 ที่จีนต้องเจอปัญหาการล็อคผลการแข่งขันของฟุตบอลลีกในประเทศ ฟีฟ่าได้ร่วมมือกับรัฐบาลจีนในการแก้ไขปัญหานี้ และฟีฟ่าได้อนุญาตตั้งแต่ตอนนั้นให้รัฐบาลจีน เข้ามาจัดการวงการฟุตบอลในประเทศ หากฟีฟ่าจะมาลงโทษกับเรื่องที่พวกเขาเริ่มต้นขึ้นเอง อาจดูไม่ดีสำหรับฟีฟ่าเท่าไหร่นัก
ดังนั้นแล้วสำหรับชาติสมาชิกที่อาจทำผิดกฎของฟีฟ่า หากมีเหตุผลที่เข้าทาง ต่อให้ทำผิดกฎก็มีสิทธิ์รอดผลการลงโทษจากฟีฟ่า
จากกรณีที่รัฐบาลไทยกักคุมตัวของฮาคีม ทำให้หลายฝ่ายทั้งสหพันธ์นักฟุตบอลอาชีพระหว่างประเทศ หรือฟิฟโปร (FIFPRO) ที่เป็นองค์กรที่ออกตัวกดดันประเทศไทยมากที่สุด ให้ปล่อยตัวฮาคีม มีการจัดประชุม รวมถึงส่งตัวแทนจากประเทศสมาชิกกดดันไทย และเป็นหน่วยงานสำคัญที่เรียกร้องให้ไทยถูกลงโทษในเรื่องของฟุตบอล
ฟิฟโปร กดดันไทยว่ากำลังหารือกับฟีฟ่า เพื่อให้รัฐบาลไทยยอมปล่อยตัวฮาคีม พร้อมทั้งเผยว่าหากไทยไม่ยอมปล่อยตัวฮาคีม ฟิฟโปรจะเรียกร้องให้ฟีฟ่ามีมาตรการลงโทษไทย ไม่ว่าจะแบนไม่ให้ประเทศไทยได้จัดการแข่งขันระดับชาติ ไปจนถึงขั้นแบนทีมชาติไทยด้วยข้อหาเอาการเมืองมายุ่งเกี่ยวกับฟุตบอล เหมือนอย่างหลายประเทศที่โดนมาก่อนหน้านี้
รวมถึงทางฟีฟ่าได้จัดประชุมที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อหารือเรื่องของฮาคีม และออกแถลงการณ์ให้ไทยปล่อยตัวฮาคีมกลับไปที่ประเทศออสเตเลีย ทำให้เกิดความกังวลว่า หากฟีฟ่าเริ่มมีการเคลื่อนไหว ไทยจะเสี่ยงต่อการโดนฟีฟ่าแบน ตามคำขู่ของฟิฟโปรหรือไม่ ?
ทั้งนี้ หากพิจารณาตามกฎของทางฟีฟ่า และจากกรณีที่ผ่านมาของชาติที่ถูกฟีฟ่าแบนด้วยประเด็นการเอาการเมืองไปยุ่งกับฟุตบอลนั้น แฟนฟุตบอลไทยยังสบายใจได้ เพราะไทยถือว่ายังไม่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟีฟ่าสั่งแบน
พิจารณาตามกฎระเบียบของฟีฟ่า ฟีฟ่าจะสั่งแบนชาติสมาชิก ในกรณีที่รัฐบาลในประเทศเข้าไปแทรกแซงการทำงานของสมาคมในฟุตบอลในประเทศ เช่น การสั่งถอดทีมชาติจากทัวร์นาเมนต์นานาชาติ แทรกแซงการเลือกตั้งนายกสมาคม หรือเข้าควบคุมการทำงานของสมาคมฟุตบอล กรณีในลักษณะนี้จะถูกฟีฟ่าสั่งแบนทั้งสิ้น
ส่วนกรณีของฮาคีมที่ถูกรัฐบาลไทยจับกุมตัว แม้นายฮาคีมจะเป็นนักฟุตบอลซึ่งถูกรัฐบาลไทยจับตัว แต่ว่านายฮาคีมไม่ใช่นักฟุตบอลที่ค้าแข้งอยู่ในลีกไทย ไม่มีความเกี่ยวข้องใดกับวงการฟุตบอลไทยทั้งสิ้น
ดังนั้นในกรณีนี้ ไม่ถือว่ารัฐบาลไทยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการดำเนินงานของสมาคมฟุตบอลไทยแต่อย่างใด เพราะนายฮาคีมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอลบ้านเรา จึงถือเป็นเรื่องยากที่ฟีฟ่าจะสั่งแบนไทยจากการแข่งขันระดับนานาชาติ
หรือย้อนมองเคสในอดีตที่ฟีฟ่าสั่งแบน จะเห็นได้ว่าเป็นการแทรกแซงทางการเมืองที่เกี่ยวกับวงการฟุตบอลในประเทศทั้งสิ้น หรืออย่างในกรณีของมาเลเซียที่เคยถูกฟีฟ่าขู่แบนเรื่องประเด็นทางสิทธิมนุษยชนเหมือนกันกับเรื่องของฮาคีม นั่นเพราะรัฐบาลมาเลเซียต้องการถอนทีมชาติออกจากการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงการดำเนินการโดยภาครัฐ ทำให้ฟีฟ่ามีสิทธิ์ที่จะสั่งแบนได้
หากตั้งคำถามว่า แล้วในกรณีของฮาคีม ต้องเป็นอย่างไรทีมชาติไทยถึงจะเสี่ยงถูกแบน ? คำตอบคือ หากฮาคีมเป็นนักฟุตบอลที่มาค้าแข้งในไทยลีก แล้วถูกรัฐบาลจับกุมตัว กรณีนี้จะถือว่ารัฐเข้ามาแทรกแซงการทำงานของวงการฟุตบอลในประเทศ และมีสิทธิ์ให้ฟีฟ่าสั่งลงโทษไทยได้
Photo : www.aljazeera.com
อย่างไรก็ตาม แม้ฟีฟ่าอาจจะไม่ลงโทษไทยในกรณีของฮาคีม แต่ถือเป็นเรื่องปกติที่ฟีฟ่าต้องออกมากดดันไทยให้ปล่อยตัวฮาคีม เพราะฟีฟ่ามีหน้าที่ที่ต้องดูแล และคุ้มครองนักฟุตบอลของประเทศสมาชิก
รวมทั้งในปัจจุบันฟีฟ่าค่อนข้างตื่นตัวกับประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน มีการเขียนรายงานยาวกว่า 80 หน้า เพื่อแสดงถึงความจริงจังกับการแก้ไขปัญหานี้ในโลกฟุตบอล ดังนั้นหลังจากนี้อาจได้เห็นฟีฟ่าออกมากดดันรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง หากยังไม่มีการปล่อยตัวฮาคีม
แม้ไทยยังไม่อยู่ในจุดที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกแบน แต่ก็ยังถูกกดดันจากสมาคมฟุตบอลประเทศอื่น เช่น กรณีที่ทีมชาติออสเตรเลียชุดยู-23 ยกเลิกการมาอุ่นเครื่องและเก็บตัวที่ประเทศไทย เพื่อประท้วงกรณีของนายฮาคีม
ขณะเดียวกัน พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมโน โฆษกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ แถลงการณ์ยืนยันว่า เรื่องของฮาคีม อยู่เกินขอบเขตการรับผิดชอบของสมาคมฟุตบอลไทย และเป็นเรื่องของกระบวนการทางกฎหมายที่ต้องดำเนินการต่อไป
หากในอนาคตมีประเทศอื่น ปฏิเสธที่จะอุ่นเครื่องกับทีมชาติไทย ถือเป็นเรื่องที่เหนือการควบคุมของสมาคมฟุตบอลไทย และต้องยอมรับต่อการตัดสินใจของชาติอื่น
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันของนายฮาคีม กระทรวงการต่างประเทศออกแถลงการณ์ ว่าจะแก้ปัญหานี้ไปตามกระบวนการทางกฎหมาย และให้ฝ่ายตุลาการเป็นผู้วินิจฉัยทางออกของปัญหา ทั้งนี้หากออสเตรเลียและบาห์เรน สามารถหาทางออกร่วมกันได้ รัฐบาลไทยพร้อมที่จะปฏิบัติตามเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย
แหล่งอ้างอิง
https://www.reuters.com/article/myanmar-rohingya-malaysia-soccer-backgro/factbox-fifa-suspensions-caused-by-political-interference-idUSL4N1DO3H0
https://en.as.com/en/2018/08/17/football/1534530569_542823.html
https://theculturetrip.com/central-america/guatemala/articles/story-behind-fifa-banned-national-guatemalan-football-team/
https://www.forbes.com/sites/augustrick/2018/02/12/why-fifa-gives-chinas-government-a-free-pass-to-meddle-in-professional-soccer/?fbclid=IwAR3NLcH-Gkgsq19unNywy1ZsnwbmuTXWAh4vPkwdvD2gHojnbFOxJQIOK9Q#6ccb368d4310
https://www.theguardian.com/football/2015/oct/16/kuwait-fa-suspended-fifa
https://www.fifa.com/governance/news/y=2017/m=12/news=suspension-of-the-kuwait-football-association-lifted-2922929.html
https://www.marca.com/en/football/spanish-football/2018/05/17/5afdbd19468aeb0d6b8b461f.html
https://www.straitstimes.com/sport/football/fifa-spain-in-discussions-to-avert-world-cup-ban
https://www.bbc.com/thai/thailand-47140511?ocid=socialflow_facebook&fbclid=IwAR1VUfpLv73V2jyJVAQBZ-7KZbDqsUl_j6K1UagYxtA_oc9rJ8pgtOBIQ-s
http://www.stuff.co.nz/sport/football/8350363/FIFA-extends-China-match-fixing-bans-worldwide
https://fifpro.org/news/savehakeem/en/?fbclid=IwAR3MmsAafkkjZczYGJkMjadYQNSe9ah0hYuzk-9BGYAl_RxrNxb5ygaW8UQ
https://resources.fifa.com/image/upload/fifa-disciplinary-code-500275.pdf?cloudid=koyeb3cvhxnwy9yz4aa6
https://resources.fifa.com/image/upload/fifa-letter-to-the-thai-authorities-concerning-hakeem-al-araibi.pdf?cloudid=tkgiczg37mwix1mg5jnl
https://resources.fifa.com/image/upload/fifa-second-human-rights-advisory-board-report.pdf?cloudid=hwl34aljrosubxevkwvh
https://www.khaosod.co.th/sports/news_2181076
https://www.foxsportsasia.com/football/asian-football/1037449/australia-cancel-thailand-training-trip-in-support-of-refugee-footballer-hakeem-al-araibi/?fbclid=IwAR3XLjF7s-QapbL_a30ymuH7fU3daoZ--jrrhjKNmjRJ6J_bWbJqt4shlA0
http://www.mfa.go.th/main/th/news3/6886/99433-%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B9%81%E0%B8%96%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8-%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AE%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B5%E0%B8%A1-%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%A5.html