และนี่คือกีฬาที่ไม่น่าเชื่อว่าเป็นการละเล่นที่ยอดฮิตที่ถูกบรรจุในโอลิมปิก เกมส์ เมื่อ 100 ปีก่อน
Photo : www.thefield.co.uk
โอลิมปิกสมัยนี้มีเป้าบิน แต่ย้อนกลับไปเมื่อ 118 ปีก่อน ในการเเข่งขันโอลิมปิก 1900 ที่กรุงปารีสมีการยิงเป้าบินที่แอดว้านซ์กว่านั้นเยอะ เพราะพวกเขาใช้นกพิราบจริงๆเป็นเป้าคอยบินหนีลูกกระสุนจากเหล่าผู้เข้าเเข่งขัน
มีการจดสถิติเอาไว้ว่าในโอลิมปิกครั้งนั้นมีนกพิราบต้องสังเวยชีวิตกับการเป็นเป้าแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ถึง 300 ตัว โดยผู้ชนะในการแข่งขันคือ เลออน เดอ ลุนเดน ที่จัดการทำสถิติยิงนกตายไป 21 ตัว ถือว่าเป็นสถิติที่แม่นน่าดูเพียงแต่ว่าคงดูไม่งามนักหากจะนำมาเเข่งในทุกวันนี้
แม้ฟังดูแล้วอาจจะเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นสำหรับคนยิง เพราะนกพิราบจริงๆมีลีลาการบิน ที่จับทางได้ยากแตกต่างกับเป้าบินในปัจจุบัน แต่ที่สุดเเล้วเรื่องศีลธรรมก็ต้องมาก่อนอยู่ดีล่ะน่า… กลับไปยิงจานร่อนกันเถอะมนุษย์เอ๋ย
Photo : terrifictop10.files.wordpress.com
อีกครั้งที่กีฬาสุดแปลกชนิดนี้ลงเเข่งขันกันในโอลิมปิก 1900 ที่กรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส หากย้อนกลับไปสักร้อยกว่าปีก่อนคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่จะมองหาสระว่ายน้ำที่ได้มาตรฐานเหมือนในทุกวันนี้ ดังนั้นการแข่งว่ายน้ำในแม่น้ำจริงๆ คืออะไรที่น่าจะจับต้องได้มากที่สุด
ทว่าหากอยากทำให้มันยากกว่าว่ายน้ำปกติล่ะจะทำอย่างไร?
ก็เอาลงว่ายกันในแม่น้ำที่มีโคลนเลยสิ! นี่คือการว่ายน้ำบนอุปสรรคบนระยะเวลา 200 เมตร โดยใครว่ายครบ 200เมตรและปีนบันใดขึ้นมาก่อนก็ถือว่าเป็นผู้ชนะ
เรียกได้ว่าต้องเหนื่อยหนัก และออกแรงมากกว่าหลายเท่า ซึ่งที่สุดเเล้วแชมป์ได้แก่ชาวออสเตรเลียอย่าง เฟร็ด เลน ที่เอาตัวฝ่าเคลื่อนน้ำและกองโคลนได้ไวที่สุดในโลกเมื่อ 118 ปีก่อน ส่วนเหตุผลที่เเข่งขันกันในโอลิมปิกส์ 1990 เพียงครั้งเดียวก็เพราะว่ามีข้อจำกัดเรื่องการหาแม่น้ำที่มีโคลนเหมือนครั้งนี้ได้นั่นเอง
Photo : www.dailymail.co.uk
ชักคะเย่อมีชื่อทางสากลว่า Tug of War โดยกีฬาที่ใช้ความแข็งแรงดึงเชือกจนอีกฝั่งเข้ามาจนพ้นเขตเเดนต้องห้ามชนิดนี้ใช้เเข่งกันในโอลิมปิกถึง 5 สมัย นับตั้งแต่ปี 1900 ถึง 1920 (ปี 1916 โอลิมปิกถูกยกเลิกการเเข่งขัน เพราะตรงกับสงครามโลกครั้งที่ 1)
กติกาการเเข่งขันตอนนั้น คือ แต่ละทีมจะต้องมีผู้เข้าเเข่งขันทีมละ 8 คน และต้องดึงอีกฝั่งเข้ามาระยะ 6 ฟุต หรือเส้นที่กำหนดไว้ และหากไม่มีผู้ชนะหลังจากหมดเวลา จะใช้การตัดสินว่าฝั่งไหนถูกดึงเข้ามาไกลที่สุดจะเป็นฝ่ายแพ้
มหาอำนาจแห่งการชักคะเย่อในเวลานั้นอย่างสหรัฐอเมริกา ส่งทีมชักคะเย่อมืออาชีพอย่างมิลวอกี้ แอธเลติก คลับ มาลงเเข่งและคว้าเหรียญทองในปี 1904 ขณะที่ในรูปที่เห็นเป็นการแข่งขันของทีมสหราชอาณาจักร และไอร์แลนด์ ในการเเข่งขันปี 1908 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
Photo : en.wikipedia.org/wiki/Equestrian_at_the_1900_Summer_Olympics
สัตว์นั้นคือสิ่งที่เกิดมาเพื่อช่วยทุ่นแรงมนุษย์อย่างแท้จริงโดยเฉพาะ "ม้า"
และมนุษย์เองก็รีดศักยภาพของม้าแทบทุกเม็ดทุกหน่วย จนกระทั่งนอกจากจะเอาม้ามาวิ่งแข่งกันแล้ว พวกเขายังเอาม้ามาแข่งกระโดดไกลกันอีกด้วย
นับเป็นการเอากีฬาขี่ม้ามารวมกับกระโดดไกลของมนุษย์ได้อย่างลงตัว เพราะนอกจากจะได้กีฬาชนิดใหม่เเล้วยังได้เห็นความสง่างามของการควบม้าทะยานกลางอากาศอีกด้วย
IOC ได้จัดให้มีการเเข่งขันนี้ครั้งแรกในปี 1900 ซึ่งเจ้าของเหรียญทองได้แก่ ก็องสต็อง ฟาน ล็องเกนด็องก์ ของเบลเยี่ยม ที่พาม้ากระโดดไปได้ไกลถึง 6.10 เมตร
สถิติดังกล่าวอยู่ยั้งยืนยงมาถึง 91 ปี ก่อนที่ในโอลิมปิกปี 1991 จะถูก ไมค์ พาเวลล์ ตัวแทนจากสหรัฐอเมริกาทำลายสถิติที่ 8.95 เมตรซึ่งไกลกว่าสถิติเดิมเกือบ 3 เมตรเลยทีเดียว
สำหรับการแข่งขันม้ากระโดดไกลในโอลิมปิกนั้นแข่งขันกันถึงปี 1912 และหายไปจนกระทั่งกีฬาประเภทขี่ม้ากลับมาเเข่งขันกันอีกครั้งในปี 1952 เพียงแต่ทว่าเหลือการเเข่งขันเพียง 3 ชนิดได้แก่ การบังคับม้า,กระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง,และกระโดดสูง
Photo : Dueling Pistol
นอกจากจะยิงเป้าบินที่มีชีวิตอย่างนกพิราบแล้ว ยังมีอะไรที่ล้ำและเสี่ยงตายสำหรับผู้เข้าแข่งขันยิ่งกว่า นั่นคือการดวลปืนสั้น ...ใช่เเล้ว ดวลปืนสั้นแบบหนังคาวบอยนั่นแหละ เพียงแต่ว่าไม่ได้ใส่ลูกกระสุนที่ถึงขั้นฆ่ากันให้ตาย และเหล่าผู้แข่งขันจะต้องใส่โค้ทยาวและเครื่องป้องกันที่ดวงตาเพื่อให้ลดความรุนแรงในการถูกยิงอีกด้วย
การแข่งขันดวลปืนเเข่งขันกันในปี 1906 โดยถือว่าเป็นกีฬาสาธิตที่ไม่ได้รับการยอมรับจาก IOC โดยการแข่งขันมีแบบสองระยะได้แก่ 20 และ 25 เมตร โดยกรรมการจะนับ หนึ่ง สอง สาม เพื่อให้สัญญา ซึ่งผู้เข้าแข่งขันจะต้องยิงก่อนนับ 3
แม้จะไม่มีการนับเหรียญรางวัล แต่การดวลปืนนี้คือการบุกเบิกกีฬายิงปืนในโอลิมปิกอย่างแท้จริง เพราะหลังจากนั้นในปี 1912 ก็ได้มีการแข่งขันยิงปืนระยะ 30 เมตร เพียงแต่ว่าไม่ได้เป็นการยิงใส่คน แต่เปลี่ยนเป็นยิงใส่เป้าที่กำหนดไว้ให้แทน
Photo : en.wikipedia.org/wiki/Plunge_for_distance
เรียกได้ว่าเป็นกีฬาที่ต่อยอดมาจากการเเข่งขันว่ายน้ำธรรมดา และเป็นกีฬาที่ต่อยอดมาเป็นการกระโดดน้ำลีลา เพราะนี่คือการกระโดดน้ำลงไปตูมเดียว และวัดกันว่าผู้เข้าแข่งขันจะไปโผล่อีกครั้งได้ไกลแค่ไหน
มันเป็นการเเข่งขันครั้งแรก และครั้งเดียวในโอลิมปิกปี 1904 ที่เมืองเซนต์ หลุยส์ รัฐมิสซูรี่ สหรัฐอเมริกา โดยผู้ชนะได้แก่ วิลเลี่ยม ดิกกี้ย์ ของเจ้าภาพ กระโดดน้ำ และพุ่งไปได้ไกลถึง 62 ฟุตกับอีก 6 นิ้วเลยทีเดียว
โดยการแข่งขันกระโดดน้ำไกลถูกยกเลิกในการเเข่งขันปี 1920 เพราะถูกนำไปรวมกับการแข่งว่ายน้ำรายการต่างๆ นั่นเอง
Photo : globalnews.ca
กีฬาชนิดนี้ถือเป็นที่นิยมกันในหมู่ผู้รากมากดีมาแต่ครั้งโบราณ คุณอาจจะเคยได้เห็นการใช้ไม้ที่ทำมาจากไม้ ใช้ตีลูกบอลกลมๆผ่านช่องต่างๆที่ปักเอาไว้กับพื้นตามภาพยนตร์สารคดีเก่าๆ มาบ้าง อย่างไรก็ตาม แม้ไม่น่าถึงขั้นเอามาเล่นกันจริงๆจังๆ เพื่อแข่งขันชิงแชมป์โลกได้ ทว่าในปี 1900 ได้มีการบรรจุลงในโอลิมปิกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส อีกด้วย
การเเข่งขันในครั้งนั้นฝรั่งเศสที่เป็นเจ้าภาพคว้าเหรียญทองไปครบทั้ง 4 ประเภท ส่วนเหตุผลที่โครเกต์ ถูกถอดออกจากกีฬาโอลิมปิกก็เพราะว่าไม่ได้รับความนิยมจากแฟนๆกีฬา.... กล่าวคือ มีกองเชียร์เข้าไปชมเกมการเเข่งขันเพียง 1 คนเท่านั้น ...ช่างน่าเศร้าเเทนคนเเข่งเสียจริงๆ
Photo : British Path
ในยุคสมัยที่ไม่ได้มีอุปกรณ์ล้ำสมัยเอามาใช้ในการแข่งขันโอลิมปิกทำให้เราได้เห็นกีฬาชนิดต่างๆ ที่เน้นอุปกรณ์น้อยชิ้น และใช้กำลังกายมากกว่าอย่าง เช่น กีฬาปีนเชือกชนิดนี้นี่เอง ที่แข่งขันมาถึงตั้งแต่ ปี 1896 ถึงปี 1932
ส่วนวิธีการเเข่งก็ไม่มีอะไรซับซ้อนมาก เพราะผู้เข้าเเข่งขันเพียงแค่เตรียมแรงเเขนมากให้พอเท่านั้น พวกเขาจะต้องปีนเชือกเส้นเดียวไต่ขึ้นไปให้สูงที่สุดนั่นเอง
การแข่งขันไต่เชือกที่ได้รับการจดจำมากที่สุดคือในปี 1904 ที่มีผู้ชนะ 2 คน คนแรกได้แก่ นิโคลอส อันดริอาโคปูลอส จากกรีซ ขณะที่คนที่ 2 คือ จอร์จ อายเซอร์ จากสหรัฐอเมริกาโดย อายเซอร์ นั้นเป็นคนพิการขาขาดและต้องใส่ขาปลอมอีกด้วย
กีฬาชนิดนี้ถูกถอดออกจากโอลิมปิกส์ในปี 1950 เพราะเทคโนโลยีการปีนป่ายมีอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นจนท้ายที่สุดเเล้วกลายเป็นส่วนหนึ่งในกีฬายิมนาสติกไปในท้ายที่สุด
Photo : AOC
จักรยานแบบปั่นสองคนถูกพบเห็นได้มากตามเมืองชายหาดอย่างบางแสนหรือชะอำเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้พักผ่อนหย่อนใจ อย่างไรก็ตามจักรยานคู่นั้นเคยถูกบรรจุลงในโอลิมปิกตั้งแต่ปี 1908 หลังจากเป็นกีฬาสาธิตในปี 1906 ก่อนจะเเข่งขันกันไปจนถึงปี 1972
ในครั้งแรกนั้นมีนักปั่นที่ลงเเข่งขันถึง 34 ประะเทศ โดยเหรียญทองเป็นของอังเดร อูฟเฟรย์ และ มัวริซ ชิลเลส จากฝรั่งเศส และหลังจากนั้นก็มีทีมจากหลากหลายประเทศลงเเข่งมากขึ้น
อย่างไรก็ตามความนิยมของจักรยานคู่ลดน้อยถอยลงไป ในช่วงการเเข่งขันปี 1968 ถึงปี 1972 เหลือนักปั่นที่ลงเเข่งขันเพียง 28 คนจาก 14 ชาติจนท้ายที่สุดเเล้วก็ยกเลิกการแข่งขันไป
โดยชาติที่ประสบความสำเร็จในกีฬาชนิดนี้มากที่สุด ได้แก่ ฝรั่งเศส และ อิตาลี ที่คว้าเหรียญทองไปชาติละ 3 ครั้ง
Photo : Shlok.mobi
การแข่งขันกรีฑาประเภทลานนั้นมีหลากหลายรูปแบบในโอลิมปิกยุคก่อนๆ โดยในโอลิมปิกปี 1900 ถึง 1912 ก็มีการแข่งกระโดด เพียงแต่ว่าอาจจะดูแปลกตาสำหรับเราๆ ที่เป็นคนในยุคปัจจุบันเสียหน่อย
โดยรูปแบบของการเเข่งขัน คือ การยืนอยู่กับที่ และห้ามวิ่งทำระยะก่อนที่จะกระโดดข้ามคาน ที่ปรับระดับตามความสูงตามแต่ที่ผู้เข้าเเข่งขันเลือก แชมป์ที่ถูกพูดถึงคือ เรย์ เอวรี่ จาก สหรัฐอเมริกา ที่คว้าเหรียญทองถึง 3 สมัยติดต่อกันในปี 1900 ถึงปี 1908 โดยความสูงสถิติที่เขาทำไว้ คือ การยืนกระโดดได้สูงถึง 1.6 เมตร
เรื่องที่น่าสนใจ คือ เอวรี่นั้นเคยเป็นโรคโปลิโอในวัยเด็ก และต้องนั่งรถเข็นมาตลอด อย่างไรก็ตาม เขาก็เอาชนะโรคร้าย และกลับมาเป็นตัวแทนของประเทศได้ในท้ายที่สุด
Photo : swiatwplaw.pl
คุณเคยอาจจะเเข่งดำน้ำกับเพื่อนในสระหลังบ้านมาก่อน แต่นี่คือการแข่งขันดำน้ำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโอลิมปิกและจัดขึ้นเพียงครั้งเดียวในการแข่งขันที่กรุงปารีสปี 1900
อย่างไรก็ตามกีฬาชนิดนี้ถูกนำมาเเข่งขันเพียงสมัยเดียวเท่านั้น ส่วนเหตุผลก็ง่ายๆสั้นๆ ... "คนดูจะดูอะไร?" ในเมื่อผู้เข้าแข่งขันลงไปดวลกันใต้น้ำ ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่มันจะไม่ได้รับความนิยมใดๆ ทั้งสิ้น
ส่วนกติการการเเข่งขันคือการดำน้ำ และทะยานไปข้างหน้าในระยะ 60 เมตร โดยทุกครั้งที่สามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าในใต้น้ำได้ระยะ 1 เมตรจะได้คะแนนครั้งละ 2 แต้ม ผู้ชนะในการแข่งขันครั้งนั้นคือ ชาร์ลส์ เดอวานเดอวิลล์ ทีได้เหรียญทองจากการเก็บคะแนนได้ทั้งหมด 188.4 แต้ม
แหล่งอ้างอิง :
https://www.huffingtonpost.com/entry/weird-olympic-sports_us_5794b6a4e4b01180b52f4a0b
https://www.topendsports.com/events/discontinued/underwater.htm
https://edition.cnn.com/2012/07/24/sport/olympic-strangest-events/
https://www.topendsports.com/events/discontinued/equestrian-long-jump.htm