สำหรับมังงะเรื่องนี้ นอกจาก "มาคุโนอุจิ อิปโป" พระเอกของเรื่องแล้ว อีกหนึ่งตัวละครที่โดดเด่นไม่แพ้กัน (เผลอๆ อาจจะได้รับความนิยมมากกว่าอิปโปเสียอีก เนื่องจากหน้าตาอันหล่อเหลา) แน่นอนว่าต้องเป็น "มิยาตะ อิจิโร่" ผู้เป็นทั้งเพื่อนและคู่แข่งตลอดกาลของ อิปโป
เมื่อพูดถึง มิยาตะ อิจิโร่ หนึ่งสิ่งที่จะลอยเข้ามาในหัวพร้อมกันโดยอัตโนมัติคือ "หมัดเคาน์เตอร์" ท่าไม้ตายประจำตัวของเขาที่ส่งคู่ต่อสู้ลงไปนอนนับ 10 กับพื้นเวทีมาแล้วนับไม่ถ้วน ซึ่งเป็นเรื่องที่เราหยิบยกมากล่าวถึงในครั้งนี้
ทำไมหมัดเคาน์เตอร์ของ มิยาตะ ถึงอันตรายชนิดหาตัวจับได้ยาก? เขามีเทคนิคอย่างไร? ติดตามได้ที่ Main Stand
มิยาตะ อิจิโร่ เปิดตัวมาตั้งแต่ในมังงะเล่มแรก ด้วยบทบาทยอดนักมวยอัจฉริยะรุ่นเยาว์ประจำโรงฝึกคาโมงาวะ เรียกได้ว่าเป็นลูกไม้ที่หล่นไม่ไกลต้น เนื่องจากพ่อของเขาเป็นอดีตนักมวยชื่อดัง แต่น่าเศร้าที่ต้องแขวนนวมไปก่อนวัยอันควรเนื่องจากอาการบาดเจ็บสาหัสในการชกไฟต์หนึ่ง
Photo : www.picuki.com
จากที่เคยเป็นเด็กร่าเริง แจ่มใส มนุษย์สัมพันธ์ดี แต่เมื่อพบกับเหตุการณ์สะเทือนใจต่อหน้า บวกกับภาระหน้าที่ที่ต้องสืบทอดภารกิจของพ่อ มิยาตะ ก็พลันกลายเป็นคนสุขุม พูดน้อย โดยตลอดทั้งเรื่องเราแทบไม่เห็นเค้ายิ้มเลยด้วยซ้ำ
ในเรื่องของสไตล์การชก เรียกได้ว่า มิยาตะ ถอดแบบจากผู้เป็นพ่อมาแบบไม่มีผิดเพี้ยน เนื่องจากเขาต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า นักมวยสไตล์ "เอ้าท์บ็อกเซอร์" ที่เน้นความรวดเร็ว การป้องกัน ชิงจังหวะฝีมือ ก็สามารถยิ่งใหญ่ในโลกหมัดมวยได้ไม่แพ้สไตล์ "อินไฟท์เตอร์" ที่เน้นพละกำลัง และพลังหมัดอันหนักหน่วง ซึ่งเป็นสไตล์ประจำตัวของ มาคุโนอุจิ อิปโป
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทั้งคู่จะเป็นคู่แข่งตลอดกาลซึ่งกันและกัน เปรียบเสมือนหยินกับหยางที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จนสุดท้ายจากที่ในตอนแรกทั้งคู่เป็นศิษย์สำนักค่ายคาโมงาวะเหมือนกัน ก็เป็นฝ่าย มิยาตะ เองที่ยอมถอยออกมา ไปสังกัดค่ายคาวาฮาระแทน เนื่องจากถ้ายังอยู่ค่ายเดียวกันต่อไป นั่นหมายความว่าหนทางของพวกเขาจะไม่มีวันเวียนมาบรรจบกันในเส้นทางการต่อสู้บนสังเวียนมวยอาชีพ
ในแต่ละไฟต์ที่ มิยาตะ ขึ้นชก ค่อนข้างจะมีรูปแบบที่ตายตัวราวกับภาพฉายซ้ำ โดยเมื่อระฆังดังขึ้น เขาจะตั้งการ์ดในสไตล์ Detroit โดยแขนทั้งสองข้างจะไขว้กันบริเวณลำตัวช่วงบน และมีข้างหนึ่งยื่นไปข้างหน้ามากเป็นพิเศษ โดยความพิเศษของการตั้งการ์ดประเภทนี้คือสามารถปล่อยหมัดแย็บ ซึ่งเป็นอาวุธหลักของนักมวยประเภทเอ้าท์บ็อกเซอร์ได้อย่างคล่องแคล่ว จากนั้นก็จะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วอันจัดจ้านไปรอบๆ ตัวคู่ต่อสู้ พร้อมปล่อยหมัดแย็บ รวมถึง ฟลิกเกอร์ แย็บ (หมัดแย็บที่มีการปล่อยหมัดจากมุมล่างของลำตัวซึ่งจะมีความรุนแรงมากกว่า) ใส่แบบไม่ยั้ง ชนิดที่คู่ต่อสู้ไม่สามารถตั้งตัวได้ติด
Photo : meatbouzu.diarynote.jp
มิยาตะ มักได้รับคำวิจารณ์ว่าหมัดของเขานั้นขาดพลัง ไม่รุนแรงพอที่จะส่งคู่ต่อสู้ลงไปนอนให้กรรมการนับได้ อย่างไรก็ตาม มิยาตะ นั้นรู้จุดอ่อนของตัวเองเป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าสไตล์การชกของเขาจะสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้แบบนับคะแนนได้ง่ายๆ แต่ตัวเขาไม่ต้องการเช่นนั้น เขาต้องการพิสูจน์ให้ได้เห็นว่าสไตล์ที่สืบทอดมาจากคุณพ่อก็สามารถชนะน็อคคู่ต่อสู้ได้เช่นกัน
ดังนั้นนอกจากการใช้ความเร็วชิงจังหวะ และปล่อยหมัดแย็บแล้ว มิยาตะเองก็มีทีเด็ดทีใช้น็อกคู่ต่อสู้ภายในเสี้ยววินาทีอยู่เหมือนกัน สิ่งนั้นคือ "หมัดเคาน์เตอร์"
ก่อนที่จะเข้าเรื่องหมัดเคาน์เตอร์ อาวุธลับประจำตัวของ มิยาตะ อิจิโร่ เรามาทำความรู้จักกันก่อนดีกว่าว่าหมัดเคาน์เตอร์ที่เรากำลังกล่าวถึงอยู่นั้นคืออะไร
หมัดเคาน์เตอร์คือหนึ่งในเทคนิคมวยขั้นสูง จัดว่าเป็นหนึ่งในกระบวนท่าการชกมวยที่ยากที่สุดก็ว่าได้ ต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างหนักเพื่อสามารถใช้ได้อย่างเชี่ยวชาญ โดยความหมายของมันก็ตรงตามชื่อ Counter ที่แปลว่า "การสวนกลับ"
Photo : vignette.wikia.nocookie.net
หลักพื้นฐานของหมัดเคาน์เตอร์คือการที่นักมวยฝ่ายหนึ่งรอจังหวะอย่างอดทน จนกระทั่งคู่ต่อสู้ปล่อยหมัดโจมตีออกมา และในเสี้ยววินาทีก่อนที่หมัดนั้นจะเดินทางมาถึงตัว ก็ให้ทุ่มแรงทั้งหมดที่มีปล่อยหมัดสวนกลับไป โดยหมัดที่ปล่อยออกไปจะต้องรวดเร็วกว่า เพื่อให้ไปถึงคู่ต่อสู้ก่อนที่ตัวเองจะได้รับบาดเจ็บ
หมัดเคาน์เตอร์จึงเป็นหมัดที่มีความรุนแรงอย่างมาก เพราะพลังหมัดที่ปล่อยออกไปจะรวมเข้ากับแรงของคู่ต่อสู้ที่โถมเข้ามา ผลลัพธ์คือแรงปะทะแบบคูณสอง ดังนั้นต่อให้ไม่ใช่นักมวยที่มีพลังหมัดเป็นจุดเด่นก็สามารถน็อกคู่ต่อสู้ได้ภายในพริบตา
อย่างไรก็ตามดังที่กล่าวไปด้านบน ว่าหมัดเคาน์เตอร์คือเทคนิคมวยขั้นสูง ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครๆ จะทำก็ได้ เนื่องจากการจะปล่อยหมัดเคาน์เตอร์ให้สมบูรณ์แบบต้องอาศัยเทคนิคมากมายดังนี้
1. อ่านจังหวะได้อย่างแม่นยำ : เนื่องจากหมัดเคาน์เตอร์คือหมัดที่ใช้สวนกลับ ดังนั้นผู้ใช้จึงต้องอ่านสถานการณ์ คาดเดาล่วงหน้าให้ได้ว่าคู่ต่อสู้จะปล่อยหมัดออกมาเมื่อไร และควรจะสวนกลับไปในจังหวะไหนถึงจะดีที่สุด
2. ต้องมีสมาธิตลอดเวลา : การจะใช้หมัดเคาน์เตอร์อย่างสมบูรณ์แบบนั้น ผู้ใช้ต้องตื่นตัวอยู่ตลอด เนื่องจากจะมีเวลาเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้นหลังจากที่คู่ต่อสู้ปล่อยหมัดออกไป เพื่อช่วงชิงจังหวะและสวนกลับไป
3. สามารถพลิกแพลงได้ดี : การจะเป็นผู้เชี่ยวชาญหมัดเคาน์เตอร์ได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประยุกต์การใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นหมัดแย็บ หมัดฮุก หรือหมัดอัปเปอร์คัท เมื่อคู่ต่อสู้ปล่อยออกมา ต้องหาจังหวะเพื่อจะเคาน์เตอร์มันกลับไปให้ได้ เนื่องจากการรอเพียงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง กว่าที่จะปล่อยหมัดเคาน์เตอร์ได้ ผู้ใช้เองอาจจะเป็นฝ่ายลงไปนอนให้กรรมการนับเสียก่อน
Photo : www.stltoday.com
โดยในโลกหมัดมวยแห่งความเป็นจริงนั้นก็มีนักมวยชื่อดังหลายคนที่โดดเด่นเรื่องการใช้หมัดเคาน์เตอร์เป็นพิเศษ เช่น อาร์ชี่ มัวร์ นักชกรุ่นไลท์เฮฟวี่เวตจากยุค 30's-60's ที่มักจะใช้ไหล่และท่อนแขนขวาเป็นเกราะป้องกันหมัดของคู่ต่อสู้ ก่อนที่จะปล่อยหมัดเคาน์เตอร์ที่เหมือนกับงูเห่าฉกออกไปเมื่อจังหวะที่ใช่มาถึง หรือแม้แต่ ชูการ์ เรย์ โรบินสัน หนึ่งในนักชกที่ได้รับการยกย่องว่าดีที่สุดตลอดกาลเมื่อเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ ว่ากันว่าเขาสามารถควบคุมจังหวะการชกของตัวเองได้ราวกับ ชาร์ลี ปาร์คเกอร์ ศิลปินแจ๊สชื่อก้องโลกควบคุมจังหวะดนตรี และเมื่อนำมาผสมผสานเข้ากับการปล่อยหมัดเคาน์เตอร์ ผลลัพธ์ที่ได้คือการสวนกลับแบบสมบูรณ์แบบ
ดังนั้นจากที่กล่าวไปด้านบน คีย์เวิร์ดสำคัญของหมัดเคาน์เตอร์คือเป็นเทคนิคขั้นสูง ต้องใช้ทั้งมันสมองและความเชี่ยวชาญในการใช้ แต่เมื่อใช้มันได้อย่างสมบูรณ์แบบ ต่อให้เป็นนักมวยที่มีพลังหมัดเบาราวปุยนุ่นเพียงใด ก็สามารถล้มคู่ต่อสู้จอมอึดได้อย่างง่ายดาย มันจึงเป็นเทคนิคที่เหมาะสมกับ มิยาตะ อิจิโร่ นักมวยอัจฉริยะ ผู้มีทักษะแพรวพราว แต่มีจุดอ่อนเรื่องพละกำลังอย่างเหมาะเจาะที่สุด
เนื่องจากความเป็นคนหัวรั้นของ มิยาตะ ที่ต้องการจะยึดมั่นในสไตล์การชกที่ถอดแบบมาจากพ่อตัวเองแบบไม่บิดพริ้ว ดังนั้นตั้งแต่เริ่มต้นเส้นทางการชกมวย เขาจึงหมั่นฝึกซ้อมหมัดเคาน์เตอร์มาโดยตลอด เพื่อเป็นท่าไม้ตายประจำตัวที่สามารถใช้ได้อย่างเชี่ยวชาญ
อย่างไรก็ตามหมัดเคาน์เตอร์ของ มิยาตะ นั้นมีความรุนแรงกว่าของนักมวยคนอื่นๆ เนื่องจากลักษณะพิเศษในการใช้ที่ไม่เหมือนใคร โดยครั้งหนึ่ง คาโมงาวะ เก็นจิ ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์หมัดมวย เจ้าของโรงฝึกอันเป็นแหล่งบ่มเพาะนักมวยชั้นยอด เคยได้ให้ความเห็นถึงหมัดเคาน์เตอร์ของ มิยาตะ เอาไว้ว่า
Photo : www.mangareader.net
"หมัดเคาน์เตอร์ของ มิยาตะ นั้นไม่เหมือนใคร ในขณะที่นักมวยคนอื่นพยายามจะปล่อยหมัดเคาน์เตอร์ในทุกจังหวะเท่าที่จะทำได้ แต่ มิยาตะ จะรอจนกว่าคู่ต่อสู้ปล่อยหมัดแบบเต็มกำลังเท่านั้น เขาถึงจะสวนกลับไป ดังนั้นหมัดเคาน์เตอร์ของ มิยาตะ จึงมีความรุนแรงมากกว่าปกติ"
"นอกจากนั้นการไม่ปล่อยหมัดเคาน์เตอร์บ่อยเกินไป ก็เป็นการลดความเสี่ยงของตัวเองไปในตัว เนื่องจากถ้าหมัดเคาน์เตอร์ที่ปล่อยออกไปเกิดพลาด ผู้ใช้เองนั่นแหละจะเป็นฝ่ายโดนเคาน์เตอร์กลับมาเอง"
หมัดเคาน์เตอร์นั้นมีมากมายหลายประเภท แต่หมัดเคาน์เตอร์ที่ มิยาตะ ได้โชว์ให้ผู้อ่านได้เห็นในเนื้อเรื่องนั้นมีอยู่ด้วยกัน 4 ประเภท ดังนี้
Jolt Counter : นี่คือประเภทของหมัดเคาน์เตอร์ที่รุนแรงที่สุด เนื่องจาก Jolt Counter คือหมัดเคาน์เตอร์ที่จะใช้พลังทั้งหมดทุ่มลงไปในหมัดเดียว โดยเริ่มจากรอจังหวะให้คู่ต่อสู้ปล่อยหมัดออกมา ก่อนที่จะเบี่ยงศีรษะหรือลำตัวหลบเล็กน้อย จากนั้นก็ใช้เท้าเป็นฐานค้ำยัน พุ่งตัวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วพร้อมเหวี่ยงหมัดใส่คู่ต่อสู้
อย่างไรก็ตาม Jolt Counter เปรียบเสมือนดาบสองคม นั่นคือถ้าปล่อยโดนเป้าหมายก็ดีไป แต่ถ้าไม่คู่ต่อสู้ก็จะสบโอกาสสวนกลับมาด้วยหมัดที่รุนแรงยิ่งกว่าเดิม เพราะมีแรงจากการพุ่งตัวไปข้างหน้าของผู้ใช้เข้ามาเสริมด้วย
โดยสาเหตุที่มิยาตะคนพ่อต้องแขวนนวมก่อนวัยอันควรก็เพราะว่าใช้ Jolt Counter พลาด และโดนคู่ต่อสู้สวนกลับมาจนกรามหักนั่นเอง
Cross Counter : หรือแปลตรงตัวว่า "หมัดเคาน์เตอร์กากบาท" หมัดเคาน์เตอร์ประเภทนี้จะใช้สวนกลับในเวลาที่คู่ต่อสู้ปล่อยหมัดตรงเข้ามา โดยในช่วงเสี้ยววินาทีนั้นผู้ใช้จะต้องปล่อยหมัดฮุคสวนกลับไป ภาพที่เห็นคือหมัดของทั้งสองฝ่ายจะไขว้กันเป็นรูปกากบาท และเนื่องจากหมัดฮุคเป็นหมัดที่ใช้ระยะทางสั้นกว่าในการโจมตี มันจึงสามารถไปถึงตัวคู่ต่อสู้ได้ก่อน ทั้งๆ ที่ปล่อยออกไปทีหลัง
Corkscrew Counter : หมัดเคาน์เตอร์ประเภทนี้คล้ายคลึงกับ Cross Counter เพียงแต่ว่าในช่วงเสี้ยววิาทีที่หมัดไขว้กันเป็นรูปกากบาท มิยาตะ จะหมุนหมัดของเขาให้เป็นเกลียว เพื่อเสริมความแรงและพลังโจมตีให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
โดยหมัดนี้คือหมัดที่ มิยาตะ ใช้พิชิต แรนดี้ บอย จูเนียร์ ลูกชายแท้ๆ ของ แรนดี้ บอย ซีเนียร์ นักมวยที่เป็นคนทำให้พ่อของ มิยาตะ ต้องแขวนนวมนั่นเอง
Pin-Point Counter : การจะใช้หมัดเคาน์เตอร์ประเภทนี้นั้น จำเป็นจะต้องรอจังหวะอย่างใจเย็นจนกว่าคู่ต่อสู้จะปล่อยหมัดที่เหมาะสมออกมา และในเสี้ยววินาทีนั้นเอง มิยาตะ จะใช้ความเร็วอันเป็นจุดเด่นเคลื่อนที่เข้าสู่มุมอับสายตาของคู่ต่อสู้ ก่อจะปล่อยหมัดเคาน์เตอร์ออกไป เป้าหมายคือบริเวณคาง โดยคู่ต่อสู้จะไม่รู้เลยว่าหมัดนั้นปล่อยมาจากทิศทางไหน รู้ตัวอีกทีก็ลงไปนอนกองกับพื้นสังเวียนแล้ว
Photo : ameblo.jp
นี่คือหมัดเคาน์เตอร์ของ มิยาตะ อิจิโร่ เรียกได้ว่ามีมากมายหลากหลายประเภท สมราคานักมวยอัจฉริยะผู้มีเทคนิคไม่เป็นสองรองใคร อย่างไรก็ตามก็ใช่ว่าจะไร้จุดอ่อนเสียทีเดียว เพราะครั้งหนึ่งตัวละคร "เซ็นโด ทาเคชิ" อีกหนึ่งคู่ปรับตัวฉกาจของทั้ง มิยาตะ และ อิปโป เคยแสดงให้เห็นมาแล้วว่าเขาสามารถหลบหมัดเคาน์เตอร์ของ มิยาตะ ที่ปล่อยออกมาได้ทุกหมัด ก่อนที่จะพูดว่า
"หมัดเคาน์เตอร์ของนายน่ะมันเดาง่ายเกินไป นายมักจะเล็งไปที่บริเวณศรีษะของคู่ต่อสู้เสมอ และทุกครั้งที่จะปล่อยหมัดเคาน์เตอร์ออกมา ไหล่ของนายจะมีการบิดเล็กน้อย นั่นทำให้ฉันรู้ตัว และสามารถหลบมันได้"
"ด้วยหมัดเคาน์เตอร์แบบนี้ นายไม่มีทางไปถึงระดับโลกได้หรอก"
Photo : bibi-star.jp
ถึงจะปากร้ายไปเสียหน่อย แต่สิ่งที่ เซ็นโด พูดคือเรื่องจริง การที่หมัดเคาน์เตอร์ซึ่งเป็นอาวุธเด็ดเพียงอย่างเดียวของ มิยาตะ สามารถโดนนักมวยฝีมือระดับเอเชียอย่าง เซ็นโด อ่านทางได้ นั่นหมายความว่าอาวุธชนิดนี้คงไม่มีทางใช้ได้ผลในการต่อสู้ระดับโลกที่เขาตั้งเป้าหมายเอาไว้
แต่หลังจากนั้น มิยาตะ ก็ได้รับการขัดเกลาหมัดเคาน์เตอร์ของเขาให้ดียิ่งขึ้น จากความช่วยเหลือของ ทากามูระ มาโมรุ นักชกรุ่นพี่ระดับแชมป์โลกจากค่ายคาโมงาวะ ที่ถึงแม้ว่าในตอนนั้นทั้งคู่จะไม่ใช่ศิษย์ร่วมสำนักกันอีกแล้ว แต่ก็ยังคงมีมิตรภาพที่ดีต่อกัน โดยเจ้าของฉายา "ผู้ฆ่าหมีด้วยมือเปล่า" แนะนำรุ่นน้องว่าให้ลองใช้แค่พลังจากแขนเพียงอย่างเดียวในการปล่อยหมัด คู่ต่อสู้จะเดาทางยากขึ้น เพราะบริเวณไหล่จะไม่มีการบิดให้เห็น
ปัจจุบัน มิยาตะ อิจิโร่ คือผู้ครอบครองเข็มขัดแชมป์รุ่นเฟเธอร์เวตของ OBDF (สหพันธ์มวยภาคตะวันออกไกลและแปซิฟิก) ผู้อ่านก็ต้องรอลุ้นกันต่อไปว่าด้วยหมัดเคาน์เตอร์ที่ได้รับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น จะพานักมวยอัจฉริยะผู้นี้ไปได้ไกลแค่ไหนในเส้นทางระดับโลก และสุดท้ายแล้วเส้นทางที่เปรียบดั่งเส้นขนานระหว่างเขากับ มาคุโนอุจิ อิปโป จะมีโอกาสเวียนมาบรรจบเพื่อตัดสินให้รู้แพ้หรือชนะกันในสังเวียนมวยอาชีพหรือไม่ ตราบใดที่อาจารย์ โจจิ โมริคาว่า ยังสุขภาพแข็งแรง และผู้อ่านอย่างเรายังไม่สิ้นลมไปเสียก่อน สักวันหนึ่งคงได้รู้คำตอบของคำถามเหล่านี้ ...
แหล่งอ้างอิง
https://bleacherreport.com/articles/2061784-ranking-the-10-best-counter-punchers-in-boxing-history
https://lawofthefist.com/complete-guide-to-counterpunching-in-boxing/
https://ippo.fandom.com/wiki/Miyata_Ichir%C5%8D
https://ippo.fandom.com/wiki/Miyata_Senior