หลังจากนั้น มีแฟนบางรายสามารถจับภาพได้ทัน กระทั่งนายมิตติ ติยะไพรัช ประธานสโมสรสิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ออกมาโพสต์ภาพและข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ Miti Tiyapairat ตั้งข้อสงสัยว่า "ไม่รู้ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ อยากให้ กระทรวงสาธารณสุขและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ควรต้องออกมาตอบประชาชนว่า ขณะที่ประชาชนหลายภาคส่วนต้องถูกล็อคดาวน์ และต้องจ่ายเงินค่ากักตัวตามมาตรการอย่างเข้มงวด 14 วัน ถ้ามี การกักตัวทิพย์เช่นนี้จริง คุณจะมีคำตอบให้ประชาชนอย่างไร? ปล. ลูกบอลรุ่นนี้คือรุ่นใหม่ล่าสุดจากไทยลีกฤดูกาล 2021/22 ที่ทุกทีมเพิ่งได้รับแจกครับ และตามจริงนักเตะทีมชาติทุกคนจะครบกำหนดกักตัววันที่ 1 กรกฎาคม”
จากนั้น สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวแล้ว ยืนยันว่า นักฟุตบอลกลุ่มดังกล่าว ฝ่าฝืนคำสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมยจริง จึงได้มีการดำเนินการตามกฏหมายแล้ว
ประเด็นชี้แจงของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ มีดังนี้
1. กรณีที่ปรากฎข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนักกีฬาสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด บางคน ไม่ปฏิบัติตามแนวทางการควบคุมโรค เข้าร่วมกิจกรรมฝึกซ้อมฟุตบอล ในระหว่างที่ยังไม่ครบกำหนดการกักตัวตามเวลาที่กฎหมายกำหนด 14 วัน คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ตรวจสอบแล้ว พบว่ามีการฝ่าฝืนคำสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ จริง จึงได้ดำเนินการตามกฎหมาย แล้ว
2. นักกีฬาเหล่านี้ เป็นนักกีฬาทีมชาติไทย ได้รับวัคซีนครบ 2 โด๊สแล้ว ก่อนเดินทางไปแข่งขันฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก และเดินทางกลับประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และได้เข้ารับตรวจหาเชื้อ ด้วยการ SWAB จำนวน 2 ครั้ง ไม่พบเชื้อ
3. ขณะนี้ นักกีฬาที่ต้องกักตัว ยังอยู่ในสถานที่กักกันตัว ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์กำหนดไว้ ต้องกักตัวให้ครบตามกำหนดเวลา 14 วัน ซึ่งจะครบในวันที่ 30 มิถุนายน นี้
ด้านสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ชี้แจงว่า นักฟุตบอลทุกคนที่เดินทางกลับจากการแข่งขันฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก ได้เข้ารับการกักตัว ตามประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน และ เข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา จำนวน 2 ครั้ง แล้ว ไม่พบเชื้อ และขณะนี้ยังเข้ารับการกักตัวอยู่ในสถานกักกันตัว
กรณีที่นักกีฬาบางราย ไปลงสนามฝึกซ้อมที่สนามเขากระโดง นั้น เป็นการกระทำผิด ไม่เป็นไปตามแนวทางของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อประจำจังหวัด จริง เนื่องจากเข้าใจผิดต่อแนวทางการกักตัว ให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดส กักตัว 7 วัน โดยไม่ทราบว่ามีประกาศฉบับใหม่ ออกมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ว่า ผู้เดินทางเข้าประเทศไทย ต้องกักตัว 14 วัน ทุกกรณี ไม่มีข้อยกเว้น
สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ขอรับผิดทุกประการ และ ยินดีให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัดบุรีรัมย์ รวมทั้งยอมรับการดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อการควบคุมการระบาดของโรคโควิด ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของชาวจังหวัดบุรีรัมย์
หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยมติในที่ประชุมว่า เห็นชอบปรับนโยบายการกักตัว 3 รูปแบบ คือ ชาวต่างชาติที่มีใบรับรองฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 14 วันแต่ไม่เกิน 3 เดือนก่อนเดินทาง และมีเอกสาร รับรองปลอดโควิด-19 จำนวน 72 ชั่วโมง ให้ลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน ส่วนคนไทยที่มีเอกสารรับรองฉีดวัคซีน แต่ไม่มีเอกสารปลอดโควิด-19 ให้ลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน และชาวต่างชาติไม่มีใบรับรองฉีดวัคซีนโควิด แต่มีเอกสารรับรองปลอดโควิด-19 ให้ลดกักตัวเหลือ 10 วัน
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ศบค.ได้กลับมาใช้นโยบายกักตัว 14 วันเช่นเดิม เมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา หลังผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
นอกจากนั้น ประเด็นการเดินทางจากต่างประเทศเข้ามายังราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.เปิดเผยถึงประเด็นการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ใจความสำคัญช่วงหนึ่งระบุว่า ผู้ที่เดินทางเข้าไทย แม้ฉีดวัคซีนโควิดครบโดสแล้ว ยังต้องกักตัว 14 วัน
สำหรับบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนคำสั่งให้กักตัวของเจ้าพนักงานควบคุมโรค กำหนดบทลงโทษสูงสุด คือ ปรับ 20,000 บาท และไม่ได้มีการระบุโทษจำคุก
แหล่งที่มา :
Facebook : สสจ. บุรีรัมย์
Facebook : Miti Tiyapairat