ทว่าในพื้นที่ที่ตึงเครียด ทุกอย่างไม่ได้สวยงามอย่างนั้น เมื่อกฎคือห้ามช่วย ห้ามรักษา ห้ามดูแลใครก็ตามที่เป็นฝั่งตรงข้าม จึงทำให้คุณหมอชาวยิวคนหนึ่งต้องแบกอุดมการณ์เพื่อเอาชีวิตรอด
และนี่คือเรื่องราวของ ดร.ลุดวิด กุตต์มันน์ คุณหมอที่ไม่ใช่แค่หนีเอาตัวรอดจากนาซี แต่เป็นการหนีเพื่อไปทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่เกินกำลังของตัวเอง
งานของเขาคือการสร้างปาฏิหาริย์ให้ใครก็ตามที่รู้สึกว่าหมดหวังและถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
เขาทำสำเร็จได้อย่างไร? ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่นี่
"นาซีเยอรมัน" คือคำที่ใช้เรียกชื่อยุคๆ หนึ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ของเยอรมันในช่วงปี 1933-1945 ภายใต้การนำของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ชายผู้ต้องการฝังความเชื่อให้ทุกคนในประเทศรู้ว่าชาวอารยันคือชนชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
แต่การขึ้นเป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียวนั้นไม่ง่าย หน้าที่ของกองทัพนาซีจึงมากมายไม่รู้จบ หลักๆ คือการไล่ถางเสี้ยนหนามที่อาจจะกลายเป็นคู่แข่งในอนาคตให้ปิดตำนานไปเสียตั้งแต่ตอนนี้ และ 1 ในชนชาติที่โดนยำหนักที่สุดคือ "ยิว" ชนชาติที่กำลังเจริญเติบโตในประเทศเยอรมัน
เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เลยที่เดียว ณ เวลานั้น ยิว เป็นชนชาติที่ต่ำต้อยและโดนรังแก อาทิ กีดขวางไม่ให้สามารถทำงานราชการในเยอรมันได้ ดังนั้นคนที่เป็นยิวจึงทำได้แค่เพียงทำธุรกิจค้าขายเท่านั้น ก่อนที่กฎดังกล่าวถูกปลดแอกโดย จักรพรรดิโจเซฟที่ 2 แห่ง ออสเตรีย ในปี 1871 ในช่วงการปฎิวัติฝรั่งเศส หลังจากนั้นชาวยิวก็เป็นเหมือนกับพลุไฟที่เมื่อได้ระเบิดออกมาแล้วพวกเขาก็สร้างความสว่างไสว
พวกเขาก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในทวีปยุโรป โดยเฉพาะที่เยอรมันนั้นเรียกได้ว่าข้ามหน้าข้ามตาชาวเจ้าถิ่นเลยทีเดียว ...
ว่ากันว่าการทำธุรกิจมาหลายสิบปี ทำให้ชาวยิว มีทั้งเงินและภูมิปัญหา เมื่อาผนวกเข้ากับช่วงปลดแอกจึงทำให้ ชาวยิว ที่ร่ำรวยได้ร่ำเรียนในระดับมหาวิทยาลัย จนกระทั่งเป็นตัวเลขถึง 70% ของมหาวิทยาลัยในเยอรมันเลยทีเดียว
ดังนั้นเองเมื่อลัทธินาซีกลืนกินเยอรมันได้ การกดขี่ยิวจึงเริ่มขึ้นอีกครั้ง ทั้งเรื่องการยึดทรัพย์ การห้ามกู้เงิน การห้ามแต่งงานกับชาวเยอรมัน และบีบเข้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งลุกลามกลายเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้น
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง เป็นช่วงที่ ลุดวิค กุตต์มันน์ หมอชาวยิวและเป็นหัวหน้าฝ่ายประสาทวิทยาในโรงพยาบาลเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมัน พบว่าจังหวะที่คาบเกี่ยวของ 2 สิ่งไม่อาจทำให้ชีวิตของเขาไปได้สะดวก จึงทำให้เกิดเรื่องลำบากใจกับ กุตต์มันน์ เป็นอย่างมาก
นาซี ในเวลานั้นไม่มีความสงสารและเห็นใจชาวยิวแม้แต่น้อย แม้แต่เรื่องที่มีความเป็นมนุษยธรรมที่สุดอย่างเรื่องยาและการรักษาก็เช่นเดียวกัน ... ชาวยิวไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะพบแพทย์ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานั้น
กฎหมายดังกล่าวมีอยู่ว่า หากชาวยิวเจ็บป่วยหรือรู้สึกว่าต้องได้รับการช่วยเหลือจากแพทย์ พวกเขาไม่มีสิทธิ์ที่จะเดินดุ่มๆ เข้ามาในโรงพยาบาลและขอพบได้โดยตรง หนทางเดียวหากคนยิวอยากจะรักษาอาการเจ็บป่วย คือต้องไปหาหมอที่เป็นชาวยิวด้วยกันเท่านั้น
ขณะที่หมอชาวยิวก็โดนลิดรอนสิทธิ์ต่างๆ มากมาย ทั้งจำกัดยาและอุปกรณ์การรักษา ซึ่งเหมือนเป็นการบีบให้พบกับความยากลำบากและตัดกำลังชาวยิวไปในตัว
เรื่องดังกล่าวทำให้กุตต์มันน์ รู้สึกผิดในหัวใจเพราะหน้าที่ของหมอคือการรักษาคนไข้ แต่เมื่อมันเป็นกฎหมายที่เข้มงวด ทุกอย่างจึงไม่อาจจะเดินหน้าได้ แม้แต่ตัวของเขาเองก็ไม่ปลอดภัยด้วยซ้ำ และด้วยความอึดอัดใจนี้ กุตต์มันน์ จึงตัดสินใจอพยพครอบครัวไปอยู่อังกฤษเพื่อย้ายไปทำงานที่ โรงพยาบาล แรดคลิฟฟ์ และ โรงพยาบาลทหารในมหาวิทยาลัย เซนต์ ฮิวจ์ส อันเป็นโอกาสที่เขาจะได้ทำความฝัน และปณิธานที่ตัวเองได้ตั้งไว้
ทว่า กุตต์มันน์ หนีสงครามไม่พ้น เพราะยิ่งนานวันเข้า นาซี ก็ยิ่งเรืองอำนาจและก่อสงครามไปทั่วภาคพื้นยุโรป จนกลายเป็น สงครามโลกครั้งที่ 2 ... อังกฤษเองก็เป็นหนึ่งในชาติที่เข้าร่วมรบครั้งนี้ด้วย ดังนั้นในปี 1943 รัฐบาลอังกฤษจึงขอให้เขาย้ายมาเป็นแพทย์ที่ โรงพยาบาล สโต๊ก แมนเดวิลล์ ใน บัคกิ้งแฮมเชียร์ ซึ่งหนนี้ กุตต์มันน์ มีข้อแม้คือหากอยากจะให้เขาไปทำงานที่นั่น เขาจะต้องมีสิทธิ์ขาดในการตัดสินใจและรักษาเต็มที่ รัฐบาลต้องให้เขารักษาผู้ป่วยได้ดีที่สุดโดยไม่มีการแทรกแซง ไม่ว่าผู้ป่วยคนนั้นจะเป็น นาซี, ยิว หรือเชื้อชาติใดๆ ก็ตาม
แม้จะได้สิทธิ์เต็มที่ แต่บางปัจจัยก็ยากที่ควบคุมได้ด้วยคนๆ เดียว หน่วยของกุตต์มันน์ ซึ่งได้พัฒนาสู่ศูนย์ผู้ป่วยกระดูกสันหลังแห่งชาติ (National Spinal Injuries Centre) มีเตียงผู้ป่วย 30 เตียง แต่กลับมีคนไข้ถึง 50 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง ไม่สามารถเคลื่อนที่และช่วยตัวเองได้ นั่นจึงทำให้การรักษาทำได้ไม่เต็มที่ จนทำให้คนไข้เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งแผลกดทับ, ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ซึ่งมีหลายรายต้องเสียชีวิตจากอาการเหล่านี้ และมันทำให้ขวัญและกำลังใจของทั้งคนทำงานและคนป่วยสูญเสียกันไปหมด
และนั่นคือหน้าที่ของหัวหน้าอย่าง กุตต์มันน์ ที่ต้องนำเอาองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ได้มาจาก ดร.โดนัลด์ มันโร แพทย์ชาวอเมริกัน ที่แนะนำให้ต้องย้ายและเคลื่อนที่เปลี่ยนท่าผู้ป่วยบ่อยๆ ซึ่งจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนได้ และแนวคิดนี้เองที่ยกระดับให้กับ ดร.กุตต์มันน์ ไปอีกขั้น เพราะต่อจากนี้เขาจะทำให้ผู้ป่วยทุกคนของเขากลับมามีสภาพร่างกาย และสภาพจิตใจดีขึ้นพร้อมๆ กันอย่างสมดุลด้วยการนำ "ขยับร่างกาย"
กุตต์มันน์ กลับมาเปลี่ยนระบบการรักษาของเขาใหม่ ไม่ใช่แค่การเปิดตำรารักษาอย่างเดียวเท่านั้น แต่เขาจะนำกิจกรรมสันทนาการอย่างกีฬาเข้ามาเป็นหัวใจหลักในการรักษา โดยผู้ป่วยของเขาจะได้ทำกิจกรรมทางกายภาพและทักษะ เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นมีความกระตือรือร้นและมีกิจกรรมเข้าสังคมกับคนอื่นๆ
กิจกรรมของ ดร.กุตต์มันน์ มีหลากหลายแบบ ปรับไปตามกำลังของคนไข้ว่าสามารถทำได้มากน้อยขนาดไหน เริ่มตั้งแต่งานช่างไม้ที่ออกแรงน้อยๆ งานซ่อมของจุกจิกอย่างนาฬิกาและของต่างๆ ที่ใช้ในโรงพยาบาล ไปจนถึงกิจกรรมกีฬาอย่างการยิงธนู
และสำหรับคนที่อาการดีขึ้นมากแล้วแต่ยังมีข้อจำกัด อย่างเช่นความพิการอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ก็จะมีกิจกรรมรองรับที่คล้ายกับกีฬาของคนธรรมดา เช่นมีการดัดแปลงงรถเข็นคนไข้มาใช้เป็นอุปกรณ์ในการเล่นโปโลและฮ็อกกี้ ซึ่งผลที่ออกมาน่าประทับใจกว่าการให้คนไข้นอนรอการรักษาอย่างเดียวเหมือนในอดีตแบบสุดๆ
ตอนนี้ที่โรงพยาบาลของ ดร.กุตต์มันน์ เหล่าคนไข้ เฝ้ารอที่จะได้เล่นกีฬาที่เหมาะกับสภาพร่างกายของพวกเขา มันฮ็อตฮิตและได้ผลจนขนาดที่ว่ามีการจัดแข่งกีฬาผู้ป่วยเลยทีเดียว เรียกได้ว่าโรงพยาบาล สโต๊ก แมนเดวิลล์ คือจุดเริ่มต้นของคำว่ากีฬาคือยาวิเศษอย่างแท้จริง
นานวันผ่านไป ยิ่ง ดร.กุตต์มันน์ มอบโอกาสและความเชื่อมั่นให้กับเหล่าผู้พิการและคนป่วย เขายิ่งรู้สึกว่าตัวเองไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเหมือนกับช่วงที่รักษาคนไข้ในตอนแรก
อาจเป็นเพราะแนวทางที่เขานำมามอบให้กับผู้ป่วยนี้ส่งผลดีรอบด้าน ยิ่งทำให้ ดร.กุตต์มันน์ มีแรงที่จะส่งมอบโอกาสให้กับทุกๆ คนที่ต้องการ เขาทำงานกับคนป่วยและผู้พิการมาทั้งชีวิต ดังนั้นเขารู้ดีว่าคนเหล่านี้ต้องการอะไร
ในยุคที่คนพิการถูกมองว่าเป็นส่วนเกินของสังคมและเป็นคนที่ใช้ประโยชน์กับส่วนรวมไม่ได้ ดร.กุตต์มันน์ อยากจะแสดงพลังให้ทุกคนได้รู้ว่าผู้พิการเหล่านี้ไม่ได้อยากจะเป็นตัวถ่วงของใคร ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่สามารถเดินเหินหรือทำอะไรคล่องแคล่วเหมือนคนปกติได้ แต่อย่างน้อยๆ พวกเขาก็อยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไปด้วยสภาพจิตใจที่ดี พร้อมจะเผชิญกับทุกปัญหาที่เข้ามาไม่ต่างจากทุกคนบนโลกใบนี้ และที่สำคัญ พวกเขาเองก็มีความฝัน มีเป้าหมายในการที่จะไล่ล่ามัน "Chase your dream" เพื่อความสำเร็จที่แต่ละคนตั้งใจเช่นกัน
กระทั่งในปี 1948 เป็นช่วงเวลาที่มหกรรมกีฬาของมนุษยชาติอย่าง โอลิมปิก วนมาแข่งขันที่กรุงลอนดอน มันจึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเจาะกับการทำในสิ่งที่เขาเชื่ออย่างที่สุด
ดร. กุตต์มันน์ ตัดสินใจทำในสิ่งที่มากกว่าหน้าที่หมอ นั่นคือการเป็นผู้บริหารองค์กรแบบเต็มตัว เป้าหมายของเขาคือการจัดการแข่งขันกีฬาของผู้พิการ พร้อมๆ กับการแข่งขันโอลิมปิก เพื่อเป็นโลกคู่ขนานที่ให้ทุกคนได้มองเห็น ภายใต้ชื่อรายการว่า "สโต๊ก แมนเดวิลล์ เกมส์"
โดยการแข่งขันของคนพิการนั้นเกิดขึ้นจากการเอาผู้ป่วยของ 3 สถานพยาบาลอย่าง สโต๊ก แมนเดวิลล์, เดอะ สตาร์ และ การ์เตอร์ โฮม ที่เป็นเหมือนศูนย์ดูแลทหารผ่านศึก มาร่วมแข่งขันชิงชัยกันในกีฬายิงธนู ซึ่งแน่นอนว่าเป้าหลักไม่ใช่ชัยชนะ แต่เป็นการบอกให้ทุกคนรู้ว่า พวกเขาทำอะไรได้? ต้องการอะไร? และไม่ต้องการอะไร?
ซึ่งสังคมภายนอกนั้นเข้าใจผิดว่าทางเดียวที่ช่วยได้คือการบริจาคเงินเพื่อใช้จ่ายในการรักษา แต่จริงๆแล้วพวกเขาไม่ได้ต้องการความสงสาร แต่ขอให้ส่งเสริมผู้พิการบ้างก็พอแล้ว
จาก "สโต๊ก แมนเดวิลล์ เกมส์" กลายเป็นการจุดประกายแก่ความหวังของวงการแพทย์และผู้พิการทั่วโลก
ดร.กุตต์มันน์ ไม่หยุดแค่นั้น เขาเริ่มตัดสินใจจะทำให้รายการนี้เป็นที่รู้จักและเป็นของผู้พิการทั่วโลก ไม่ใช่แค่สำหรับทหารผ่านศึกหรือผู้พิการชาวอังกฤษเท่านั้น เขาจึงได้ทำหนังสือเชิญชวนทีมต่างๆ ให้มาร่วมแข่งขันกัน และยังเพิ่มชนิดกีฬาบางชนิดอย่าง วีลแชร์บาสเกตบอล และเพิ่มอีกทีละเล็กทีละน้อย
จนกระทั่งทุกอย่างเป็นไปตามที่หวัง มีทีมจากต่างประเทศอย่าง เนเธอร์แลนด์, แคนาดา, ออสเตรีย, ฟินแลนด์, อียิปต์ และ อิสราเอล เข้ามาร่วมแข่งขันด้วยในช่วงปี 1954 และปี 1958 จนสุดท้ายก็เปลี่ยนชื่อการแข่งขันให้กลายเป็นสากลมากขึ้น เพื่อรองรับกับความสนใจและตอบโจทย์กับผู้พิการทุกคนบนโลกนี้เป็น "พาราลิมปิก เกมส์" และเริ่มแข่งขันในปี 1960 โดยเริ่มใช้สัญลักษณ์เฉพาะอย่าง รูปพระจันทร์เสี้ยว 3 ชิ้น มีสีแดง น้ำเงิน และเขียว ซึ่งเป็นสีสามัญประจำธงชาติของเกือบทุกประเทศทั่วโลก และมีคำขวัญประจำการแข่งขันว่า "Spirit of Motion" หรือ "จิตวิญญาณแห่งการเคลื่อนไหว" ซึ่งสิ่งนี้คือจุดเริ่มต้นจากโรงพยาบาล สโต๊ก แมนเดวิลล์ อย่างแท้จริง
และหากจะถามว่า พาราลิมปิก ครั้งแรกประสบความสำเร็จมากแค่ไหน คงง่ายที่จะอธิบายเพราะในปี 1960 มีนักกีฬาพาราลิมปิก 400 คนจาก 23 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมาไกลจากวันแรกที่มีการแข่งขันโดยคนไข้ที่ปัญหาโรคกระดูกสันหลังจาก 3 โรงพยาบาลเท่านั้น
ดร.กุตต์มันน์ คงได้แต่ยิ้มและภาคภูมิใจกับสิ่งที่เขาพยายามจะเปลี่ยนแปลงมาตลอด เพราะเขาเชื่อว่าสาเหตุที่ผู้คนเข้ามาแข่งขันมากขึ้น ไม่ใช่เพราะเรื่องของเงินทองหรือชื่อเสียง แต่มันคือการจุดประกายความหวัง และสร้างความหมายในการมีชีวิตอยู่ในแบบที่เป็นของเหล่าผู้เข้าร่วมการแข่งขันต่างหาก
สิ่งที่เขาวาดฝันไว้ได้เป็นจริง โดยเฉพาะในช่วงปี 1980 พาราลิมปิก เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ที่ลงมาช่วยในหลายๆ เรื่องจนกระทั่งได้กลายเป็น 2 มหกรรมที่จัดแข่งในช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกันครั้งแรกในปี 1988 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ และเมื่อมีนักกีฬาที่มาเข้าแข่งขันมากขึ้น พาราลิมปิก ก็ก่อตั้งองค์กรของตัวเองที่ชื่อว่า คณะกรรมการพาราลิมปิกสากล หรือ International Paralympic Committee (IPC) ขึ้นมาเพื่อบริหารโดยตรง จนทุกวันนี้มีนักกีฬาเข้าแข่งขันกว่า 4,500 คน ในการแข่งขันเมื่อปี 2016 ทั่ผ่านมา
พาราลิมปิกเป็นมหกรรมกีฬาที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของนักกีฬาจากทั่วโลก แสดงให้เห็นความสามารถของคนที่มีร่างกายแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็น ตามองไม่เห็น ไม่มีแขน ไม่มีขา หรือ พิการทางสมอง แต่มีความสามารถเล่นกีฬาได้เหมือนคนร่างกายปกติ และบางคนอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ ที่สำคัญคือ พวกเขาเองก็มีความฝัน ที่ต้องการประสบความสำเร็จ ได้รับการนับหน้าถือตา ยอมรับว่าพวกเขาก็เป็นหนึ่งคนในสังคมเหมือนๆ กับทุกคน
สิ่งสำคัญคือหากเหล่าผู้พิการไม่มีเวทีนี้ให้แสดงฝีมือ คงไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาเองก็มีดีไม่ต่างกัน ดังนั้น ดร.กุตต์มันน์ คือบิดาแห่งพาราลิมปิกอย่างแท้จริง ชายผู้ใช้ชีวิตด้วยอุดมการณ์มาตลอด อาจจะต้องผ่านร้อนหนาวพิสูจน์กับอุปสรรคหลายสิ่งอย่าง แต่สุดท้ายเมื่อผลแห่งความพยายามสุกงอม ทุกคนก็ได้พบว่าการช่วยเหลือและหยิบยื่นสิ่งดีๆ ของ ดร.กุตต์มันน์ ไม่ได้แค่เปลี่ยนแปลงตัวเขาเองเท่านั้น แต่มั่นได้ส่งผ่านไปทั่วโลกและมีอิทธิพลถึงผู้พิการให้กลับมามีความหวังอีกครั้งในชีวิต
ไม่ว่าจะสูงต่ำดำขาวหรือร่างกายไม่ครบ 32 ทุกคนล้วนมีสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตในแบบที่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ได้พัฒนาตัวเอง และไม่ถูกใครทิ้งไว้ข้างหลัง มนุษย์ทุกคนล้วนมีความสามารถพิเศษซ่อนอยู่ และถ้าหากพวกเขาได้รับความเชื่อมั่น ถึงแม้จะมีบางสิ่งขาดหายไป พวกเขาก็สามารถทำในสิ่งที่เหลือเชื่อได้ ...
ความฝันมีวันเป็นจริงได้เมื่อเราลงมือทำ และ บริดจสโตน พร้อมจะสนับสนุนนักกีฬาที่มีความมุ่งมั่น ความเชื่อ และอุดมการณ์ ไปสู่สิ่งที่ดีกว่าข้างหน้าภายใต้สโลแกน “Give A Loving Hand – ส่งมอบความรักไปกับ #ยางที่คุณเชื่อมือ”
แห่งอ้างอิง
https://www.telegraph.co.uk/lifestyle/9450182/Paralympics-founder-Sir-Ludwig-Guttmanns-legacy-celebrated-in-BBC-drama.html
https://www.thehistorypress.co.uk/articles/dr-guttman-and-the-paralympic-movement/
https://en.wikipedia.org/wiki/Paralympic_Games
https://en.wikipedia.org/wiki/Ludwig_Guttmann
https://historicengland.org.uk/research/inclusive-heritage/disability-history/1945-to-the-present-day/disability-and-sport/
https://www.the101.world/tul-interview-nazi-study/