โอลิมปิกคือกีฬาของเหล่ามวลมนุษยชาติ ทว่าต้นกำเนิดของมันนั้นมาจากการเป็นกิจกรรมเพื่อฉลองทางศาสนาของชาวกรีก การเเข่งขันกีฬาโอลิมปิกมีขึ้นเพื่อให้เหล่าเทพเจ้าซุส (Zeus) ที่ชาวกรีกเคารพ ก่อนจะเเข่งมีพิธีรีตองมากมาย อาทิ การบูชายัญวัว 100 ตัว เป็นต้น
ชนิดกีฬาส่วนใหญ่ที่ใช้แข่งขันกันในช่วงนั้นได้แก่ กรีฑา รวมไปถึงสิ่งที่ประยุกต์มาจากช่วงเวลาสงคราม อาทิ รถม้า และ การต่อสู้ในรูปแบบต่างๆ ดังนั้นจุดมุ่งหมายของกีฬาในเวลานั้นเกิดขึ้นเพื่ออยากให้พลเมืองของกรีกมีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง นำไปสู่การรับใช้ประเทศได้อย่างเต็มที่ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองต้องการ ซึ่งความหมายอีกนัยหนึ่ง คือ การลับคมของเหล่าทหารเพื่อให้พร้อมสำหรับศึกสงครามนั่นเอง
แม้รูปแบบการเเข่งขันของกีฬาหลายๆ ชนิดอาจจะคล้ายการรบกันในสงคราม อย่างไรก็ตามความต่างของ กีฬา และ สงคราม ในเวลานั้นคือการมีกติกาสำคัญกำหนดไว้ว่าในช่วงที่มีการแข่งขัน ความขัดแย้งระหว่างนครรัฐที่เข้าร่วมทั้งหมดจะถูกเลื่อนไปจนกว่าการแข่งขันจะเสร็จสิ้นลง...อย่างไรก็ตามกฎแค่นี้ห้ามไม่อยู่
ครั้งหนึ่งมีเรื่องเกิดขึ้นกับชาวสปาร์ต้า พวกเขาไม่ยอมหยุดรบในช่วงการแข่งขันโอลิมปิก และในขณะเดียวกันพวกเขายังอยากจะที่แสดงแสนยานุภาพและความยิ่งใหญ่ของตัวเอง เมื่อคณะกรรมการพยายามจะรักษากฎ ด้วยการตัดสิทธิ์พวกเขาจากการแข่งขัน ทว่าสปาร์ต้าไม่สามารถยอมรับคำตัดสินได้ พวกจึงแก้แค้นด้วยการโจมตีเมืองเอลิส ที่เป็นสถานที่แข่งขัน จนต้องวุ่นวายกันแบบไม่หยุดหย่อน
นอกจากนี้ยังมีผลต่อเนื่องไปจนถึงการโกงต่างๆ นานๆ มีการอ้างไปถึงเมื่อ 420 ปีก่อนคริสตกาล จากเหตุการณ์ที่ สปาร์ต้า ถูกตัดสิทธิ์ให้ลงเเข่งขัน จึงทำให้ นครรัฐธีบส์ (Thebes) แอบดึงตัว นักกีฬาของสปาร์ต้าคนหนึ่งมาเเข่งในกีฬารถศึกโดยแอบบอ้างว่าเป็นชาว ธีบส์ ซึ่งหลังจากแข่งขันกันเเล้ว ชาวสปาร์ต้าคนนั้นยังเป็นผู้ชนะการแข่งขันอีกต่างหาก ทว่าด้วยความดีใจเขาจึงประกาศตนว่า แท้จริงแล้วตนเป็นนักแข่งจากที่ใด ผลที่ตามมาคือ เขาถูกเฆี่ยนประจานในที่สาธารณะ รางวัลแห่งชัยชนะถูกส่งมอบให้กับนครรัฐธีบส์โดยไม่มีการกล่าวถึงชื่อของชายชาวสปาร์ต้าผู้นั้นเลย
เมื่อเลือกที่จะลงเเข่งขันทุกฝ่ายล้วนต้องการชัยชนะด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ใช่ทุกคนที่จะก้มหน้ายอมรับความพ่ายแพ้ได้แต่โดยดี เมื่อแพ้แล้วก็อยากที่จะกลับมาชนะดังนั้น การหาข้ออ้าง, ว่ากล่าวและวิจารณ์คู่แข่ง, การใส่ร้าย และการทุจริตการเเข่งขัน...เรียกได้ว่าการโกง และแตกแยกในโลกของกีฬานั้นไม่ใช่เรื่องใหม่เลยวำหรับโลกใบนี้
และแน่นอนว่า มันก็ยังแก้ไม่ได้ง่ายๆ และยากจะหมดไป...จนกระทั่งยุคปัจจุบัน
จุดนี้จะชัดเจนที่สุดหากจะอธิบายให้เห็นภาพนั่นคือการยกกรณีศึกษาจากฟุตบอลอังกฤษที่ลงเเข่งขันกันมาเป็นร้อยๆปี บางสโมสรมีอายุยาวนานจนกลายเป็นการฝังรากลงในคนท้องถิ่น และเมื่อเกิดความเชื่อที่ว่า “ทีมนี้คือทีมของพวกเรา” เรื่องของอารมณ์ร่วมของแฟนๆ ก็จะตามมาแบบเลี่ยงไม่ได้
เมื่อการเเข่งในสนามกีฬาไม่มีคนจนคนรวย มันเป็นเหมือนสงครามที่ต้องสู้กันด้วยฝีมือภายใต้กฎกติกาอันเป็นกรอบที่ตั้งไว้ จึงทำให้ผู้เข้าแข่งขันอยู่ในสถานะ “เท่ากัน” และเมื่อกีฬาเป็นเหมือนตัวแทนของคนท้องถิ่น บางครั้งการใช้กีฬาเอาชนะคู่ปรับและคู่อริก็เป็นเรื่องที่ง่ายกว่าการเอาชนะด้วยเรื่องอื่นๆ และชัยชนะทางกีฬายังมีความหมายโดยนัยไม่ต่างกับการประกาศตัวเองของท้องถิ่นว่าแม้เรื่องเศรษฐกิจ, เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ อาจจะแพ้แต่เรื่องกีฬา “ข้าเหนือกว่าเอ็ง”
แน่นอนว่าชัยชนะบนเรื่องราวความบาดหมางนันเป็นอะไรที่หอมหวานเสมอ สำหรับผู้คว้าชัย พวกเขาจะสุดเหวี่ยงจนลุกลามไปถึงการยั่วยุถากถางผู้แพ้ ซึ่งมักจะบานปลายกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงทุกครั้งไป
จุดนี้คือเรื่องที่ยากเกินจะห้ามได้ มันเหมือนไฟกับน้ำมันที่ใกล้กันเมื่อไหร่มีอันต้องปะทะใส่กันเสมอ
การพบกันระหว่าง อัล อาห์ลี กับ ซามาเล็ค คือเกมดาร์บี้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอียิปต์ มันมีทั้งเรื่องของประวัติศาสตร์และการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
ซามาเล็คถูกก่อตั้งขึ้นปี ค.ศ. 1911 ในฐานะตัวแทนของคนรวยที่อาศัยอยู่ในเมืองไคโร ในขณะที่ อัล อาห์ลี ถูกก่อตั้งแต่ปี ค.ศ. 1909 พวกเขาเป็นเหมือนตัวแทนของกลุ่มชาตินิยม ซึ่งทำให้พวกเขาเป็นอิสระจากเหล่านักล่าอาณานิคมในอดีต
ทั้งสองทีมพบกันครั้งแรกในปี ค.ศ. 1917 และถูกมองว่าเป็นการต่อสู้กันระหว่างตัวแทนฝั่งรอยัลลิสต์กับฝั่งคลั่งชาติ ทำให้เกมดาร์บี้คู่นี้เริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้นในแง่ของความขัดแย้งและความรุนแรง โดยเฉพาะเหตุการณ์เมื่อปี ค.ศ. 1966 นั้น เกมของคู่นี้ต้องถูกยกเลิก เมื่อทหารจำนวนมากบุกเข้ามาในสนามและพยายามสลายการชุมนุมของแฟนบอล จึงทำให้ลีกสูงสุดของอิยิปต์หยุดทำการแข่งขันเกือบ 5 ปี...และถ้าคุณคิดว่าเวลาจะช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรได้แล้วล่ะก็ คุณคิดผิด เพราะในช่วงยุค ‘70 เป็นต้นมาความรุนแรงยังเพิ่มขึ้นอีกจนถึงมีการเข่นฆ่ากันในหมู่แฟนบอลจนเสียชีวิต เรียกได้ว่างานนี้ล้างแค้นกันไป ล้างแค้นกันมา จนนับครั้งไม่ถ้วนและยากที่จะจบได้โดยง่าย
Photo : www.kingfut.com
ยังมีอีกเยอะสำหรับเรื่องราวที่ของการใช้กีฬาเป็นตัวแทนของการต่อสู้กันระหว่างความวิตกกังวลของชนชั้นล่างและทัศนคติของชนชั้นสูง ที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นนั้นมีเกือบจะทั่วโลก ที่ อาร์เจนติน่า มี โบคา จูเนียร์ส กับ ริเวอร์เพลท, ที่สเปนมี เอล กลาซิโก้ ที่ สก็อตต์แลนด์ มีโอลด์เฟิร์ม ดาร์บี้ และที่ตุรกีมี เฟเนร์บาห์เช่ เจอกับ กาลาตาซาราย
ดาร์บี้แมตช์ที่เรากล่าวไปในข้างต้นนั้นอาจจะมีจุดเริ่มต้นของความขัดเเย้งที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามปลายทางก็คือพวกเขาเป็นอริกันเพราะเรื่องของความคิด จุดยืนทางสังคม ศาสนา และการเมือง ของแต่ละท้องถิ่น ที่ไม่อาจจะแยกเรื่องกีฬาได้เลยเพราะอย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้นว่า ทุกครั้งที่ลงเเข่งคือ “ทีมของพวกเรา” นั่นเอง
บทวิจัยของ Havard business review พูดถึงเรื่องควมหอมหวานและจัดเต็มของชัยชนะที่มีเหนือแค่ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงแน่นอน เมื่อเราเจอกับทีมคู่อริเราจะมีแรงจูงใจที่จะเอาชนะ เรียกได้ว่าชัยชนะจะผลักดันให้ทั้งสองฝั่งรีดศักยภาพของตัวเองออกมาโดยไม่รู้ตัว
มีการจดสถิติระหว่างเกม NFL ที่สองคู่ปรับระดับท็อป 10 อย่าง นิว อิงแลนด์ แพทริอ็อต พบกับ นิว ยอร์ค เจ็ตส์ ตลอด 8 ปี (2002-2010) ที่น่าแปลกคือในแต่ละเพลย์พวกเขาเลือกจะเล่นในรูปแบบที่ต่างออกไปจากที่เคยเป็นหรือยามที่เเข่งกับทีมอื่นที่ไม่ใช่คู่ปรับด้วยกัน
การแสดงตัวตนและจุดยืนมีผลกับการเล่นกีฬาอย่างไม่รู้ตัว และที่เหลือเชื่อคือการเจอกับทีมที่มีประวัติซึ่งกันและกันกลับทำขีดจำกัดของแต่ละฝั่งสูงกว่าที่เคยเป็นอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นเดิมพันที่บีบหัวใจกันทั้งสองฝั่งเลยทีเดียว
เมื่อการแข่งขันยิ่งรุนแรง, ยิ่งมีอารมณ์ร่วม ก็ยิ่งมีความน่าสนใจ ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าเกมการเจอกันระหว่างคู่อริ 2 ทีม หรือแม้กระทั่งสองประเทศในทุกชนิดกีฬาจะได้รับความสนใจจากแฟนกีฬาทั่วโลกเป็นพิเศษ นั่นจึงทำให้เกมเหล่านี้มีผลประโยชน์สูง ไม่ว่าจะในแง่ของการถ่ายทอดสด เงินรางวัล และความสนใจของสื่อทุกสำนัก … ดังนั้นเรื่องของความขัดแย้งนอกสนามสู่ความเดือดในสนามคือสิ่งที่คู่กัน ถึงแม้จะเป็นภาพที่รุนแรงและมีคำวิจารณ์ต่างๆนาๆเพื่อหาทางออกไม่ให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น
เชื่อว่าที่สุดเเล้วมีวิธีแก้ปัญหามากมายที่จะทำให้ให้ความเดือดดาลนี้หายไปหากทำกันอย่างเอาจริงเอาจังและเด็ดขาด แต่ใครล่ะอยากจะทำให้มันเป็นแบบนั้น เพราะความสนุกที่แท้จริงของกีฬามันอยู่ที่ตรงนี้นี่เอง … แม้สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ตรงกับคำนิยามของกีฬา แต่เราเชื่อว่าคุณรู้ดีอยู่แก่ใจความคัดเเย้งและรุนแรงเหล่านี้คือความสนุกตราบใดก็ตามที่คุณไม่ได้เป็นผู้รับผลกระทบ
ได้ยินกันมาแต่ไหนแต่ไรคำที่บอกว่ากีฬาไม่ควรเกี่ยวข้องกับการเมือง หากมองกันในแง่มุมของความเป็นจริงและความเป็นไปได้ดูเหมือนมันจะยากเสียเหลือเกิน ไม่ว่ากับกีฬายอดนิยมชนิดไหนก็ล้วนจะหนีไม่พ้นถึงการแสดงออกทางการเมืองเสียทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกจากตัวนักกีฬาและเหล่าแฟนๆทั้งหลาย
งานวิจัยของ ไมเคิล เซราซิโอ Michael Serazio และ เอมิลี่ เอ ธอร์สัน Emily A. Thorson 2 รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยบอสตัน และ Syracuse University จับมือร่วมกันวิจัยเรื่องการเกี่ยวข้องระหว่างกีฬาและการเมืองแบบลึกซึ้ง ซึ่งผลที่พวกเขาสืบค้นมาก็พบว่า สองสิ่งนี้มันเกี่ยวกันมากกว่าที่ใครๆคิด
จากการสำรวจแฟนกีฬาที่เป็นผู้ใหญ่กว่า 1,000 คนพบว่าสำหรับสังคมอเมริกัน แฟนกีฬามักจะมีแนวคิดเอียงขวาในเรื่องกองทัพและเศรษฐกิจ เหล่าแฟนกีฬากล้าพอที่จะบอกว่าสนับสนุนกองทัพมากกว่า และเชื่อว่าความสำเร็จทางเศรษฐกิจนั้น คือผลจากการทำงานหนัก
"ในความคิดของแฟนกีฬา เพลงชาติของสหรัฐ,ธงชาติ และกองทัพ คือสิ่งที่เชื่อมโยงกัน หากคุณคิดจะประท้วงสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั่นหมายความว่าคุณกำลังประท้วงและต่อต้านองค์ประกอบทั้งหมดด้วย" เซราซิโอ บอกสิ่งนี้และจบท้ายว่า "งานวิจัยนี้คือก้าวแรกที่จะเริ่มแกะรอยความสัมพันธ์ทีซับซ้อนของกีฬาและการเมือง"
Photo : www.redletterchristians.org
เรื่องราวเริ่มจากกรณีของ โคลิน แคเปอร์นิค อดีตควอเตอร์แบ็กของ ซาน ฟรานซิสโก โฟร์ตีไนน์เนอร์ส แสดงจุดยืนต่อต้านความอยุติธรรมต่อสังคมที่เลือกปฏิบัติต่อคนผิวสีด้วยการคุกเข่าระหว่างเพลงชาติบรรเลงในสนาม โดยเขาถือเป็นตัวตั้งตัวตีสำหรับเรื่องนี้ เพราะเมื่อเรื่องรู้ถึงหูประธานาธิบดีอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ เขาออกมากดดดันให้บรรดาเจ้าของทีมแบนหรือไล่นักกีฬาที่ไม่ยอมยืมตรงเคารพเพลงชาติออกจากสนาม ซึ่งผลที่กลับมาคือผู้เล่นหลายคนเริ่มทำตาม เเคเปอร์นิค ทว่าที่สุดเเล้วมีเพียงเขาคนเดียว ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด เพราะกลายเป็นผู้เล่นไร้สังกัด เห็นได้ชัดว่าการแสดงออกทางการเมืองของเขาส่งผลกับตัวเองโดยตรง
นอกจากนี้ในปี 2017 ที่ผ่านมาประชาชนแคว้นกาตาลันร่วมลงมติขอแยกตัวเป็นเอกราชจากสเปน เพราะพวกเขาเป็นเมืองเศรษฐกิจและเชื่อว่าถูกขูดรีดจากสเปนอย่างไม่เป็นธรรม โดยมีนักเตะอดีตนักเตะของ บาร์เซโลน่า หลายๆ คนเป็นผู้ขับเคลื่อนและเเสดงตัว อาทิ เคราร์ด ปีเก้, ชาบี เอร์นันเดซ และ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ด้วย
แม้จะผลักดันกันอย่างจริงจังจนสื่อทั่วโลกพร้อมใจกันนำเสนอข่าว ทว่าการแยกก็ไม่เป็นผลเพราะกลุ่มผู้ชุมนุมโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมจนที่สุดและมีผู้บาดเจ็บมากถึง 460 คน
เรื่องของ กาตาลัน และ สเปน คือเรื่องราวที่เป็นเหมือนระเบิดเวลา ในนักเตะของเชื้อสายกาตาลันในทีมชาติสเปนมักจะตกเป็นเป้าวิจารณ์อยู่เสมอ ในวันที่ทีมชาติสเปนชนะและประสบความสำเร็จเสียงวิจารณ์ก็จะเงียบไป แต่วันไหนที่ผลงานตกต่ำ ก็ถือเป็นคราวเคราะห์ร้ายของนักเตะจากกาตาลัน
ไม่ใช่แค่เรื่องของฟุตบอลเท่านั้นในวงการกีฬาอื่นๆก็มีเรื่องของการเเสดงออกทางการเมืองมาเกี่ยวข้องเช่นกัน โดยในวงการกีฬาสหรัฐทั้งเบสบอล, อเมริกันฟุตบอล และบาสเกตบอล มีนักกีฬาออกมาแสดงสัญลักษณ์คุกเข่าให้เพลงชาติสหรัฐ เพื่อทำการประท้วง “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีของสหรัฐ เพราะไม่เห็นด้วยกับคำพูดของทรัมป์ที่ขาดความเคารพต่อนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลอาชีพที่นักกีฬาหลายคนมีเชื้อสายแอฟริกัน
เท่านั้นยังไม่พอการเมืองและกีฬายังนำมาซึ่งความแตกแยกของคนในประเทศอีกด้วยที่ บราซิล ปี 2014 ชาวบราซิลกว่าล้านคนจากหลายเมืองลุกฮือเพื่อต่อต้านรัฐบาลของพวกเขาที่นำเงินจำนวนมหาศาลมาจัดแข่งขันฟุตบอลโลก แทนที่จะนำเงินเหล่านั้นมาช่วยพัฒนาประชาชนในประเทศที่ส่วนใหญ่นั้นเป็นคนยากจนและขาดแคลนที่อยู่อาศัย นอกจากนี้อีกหนึ่งเหตุผลคือประชาชนส่วนใหญ่มองว่าการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก และ โอลิมปิก 2016 จะเป็นช่องทางให้ผู้มีอำนาจทำเรื่องทุจริตต่อๆ ไป ซึ่งการประท้วงก็ลุกลามไป จนถึงขั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องยิงแก๊สน้ำตาสลายฝูงชน จนถึงขั้นเมืองลุกเป็นไฟเลยทีเดียว
ยังมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์มากมายที่เกิดขั้นในวงการกีฬา อาทิ โอลิมปิกเมื่อปี 2016 ที่ เฟยิซา ลิเลซา นักวิ่งมาราธอนชาวเอธิโอเปีย ที่คว้าเหรียญเงินมาได้สำเร็จได้ แต่หลังจากเข้าเส้นชัย เขาแสดงสัญลักษณ์ไขว้แขนเป็นรูปกากบาทชูขึ้นเหนือศีรษะ เพื่อเป็นการประท้วงรัฐบาลในประเทศ เนื่องจากประชาชนไม่พอใจปัญหาการกีดกันทางเศรษฐกิจและการเมืองในช่วงปี 2016
การเเสดงออกของ ลิเลซา ทำให้มีชาว เอธิโอเปีย ถือโอกาสออกมาเเสดงพลังประท้วงรัฐบาลกันมากมาย แต่สุดท้ายเรื่องก็จบลงแบบไม่สวยนักด้วยการสลายการชุมนุม มีผู้บาดเจ็บมากมาย ขณะที่ ลิเลซ่า ไม่สามารถกลับไปที่ เอธิโอเปีย ได้อีกเลยหลังจากนั้น
จะเห็นได้ว่าบางครั้ง (หรืออาจจะบ่อยครั้ง) สนามกีฬาคือสังเวียนแห่งการแสดงพลัง, ความคิด, จุดยืน และ ควาามเชื่อทางการเมืองไปพร้อมๆกับการเเสดงฝีมือ
ทุกวันนี้เราต้องยอมรับว่ากีฬาไม่ใช่เรื่องของการแพ้ชนะเพียงอย่างเดียว ในประเทศที่มีวัฒธรรมกีฬาที่สืบทอดกันเป็นเวลายาวนาน ต่างใช้ทีมกีฬาของตัวเองบ่งบอกถึงจุดยืนอันเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของชีวิต
ยกตัวอย่างง่ายๆคือศึก "เอล กลาสิโก้" ที่ เรอัล มาดริด ที่เป็นตัวแทนจากอาณาจักรสเปน เจอกับ บาร์เซโลน่า ตัวแทนของแคว้นกาตาลันดินแดนที่ปกครองตัวเอง และงัดข้อจะแยกตัวเองออกมาจากสเปนอยู่เรื่อยมา ขณะที่ทั้งสโมสรลงเล่นฟุตบอลลีกของสเปน และเเข่งขันกันมานับไม่ถ้วน หากให้นับนิ้วแล้วก็พบว่า มาดริด และ บาร์ซ่า ซัดกันในสนามมาเเล้วถึง 238 เกม แต่ยิ่งเเข่งขันกลับยิ่งทวีความเดือดดาล และแตกหักกันมากขึ้นเรื่อยๆ
เสียงของนักกีฬานั้นเป็นเสียงที่ทรงพลังและน่าฟัง พวกเขามีภาพลักษณ์ของการเป็นนักสู้ และเป็นตัวแทนของความพยายาม ดังนั้นเมื่อพวกเขาพูดประชาชนจะฟัง...และนี่คือสิ่งที่นักการเมืองที่เป็นภาพลักษณ์ของการเป็นผู้โกงกินและคอรัปชั่นไม่อาจเลียนแบบได้
การแสดงออกของนักกีฬาที่มีชื่อเสียงสามารถขับเคลื่อนพลังมวลชนได้โดยง่าย เลอบรอน เจมส์ นักบาสเก็ตบอลหมายเลข 1 ของโลก คือตัวอย่างของการแสดงความคิดเห็นเรื่องอื่นๆ นอกจากเรื่องของกีฬา และคำพูดของเขากลายเป็นจุดเริ่มต้นของการถกเถียงต่างๆนาๆมากมาย
ครั้งหนึ่งในปี 2012 เลอเบรอน และเพื่อนร่วมทีมไมอามี่ ฮีท สวมหมวกสีดำเพื่อไว้อาลัยให้กับกระบวนการยุติธรรม จอร์จ ซิมเมอร์แมน อาสาสมัครป้องกันชุมชนแห่งหนึ่งในรัฐฟลอริด้า ยิงวัยรุ่นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันชื่อว่า เทรย์วอน มาร์ติน เสียชีวิต ก่อนจะให้การณ์ว่าเหตุผลที่ยิงเพราะเขาถูกคุกคามก่อน และตัวของซิมเมอร์แมนก็ไม่ถูกจับเนื่องจากกฎหมายของรัฐที่ว่าด้วยการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถทำให้อีกฝ่ายถึงแก่ชีวิตได้ และเมื่อมีการตัดสินในชั้นศาล ซิมเมอร์แมน ก็รอดจริงๆ ขณะที่กลุ่มชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันจากหลายๆรัฐทั้ง ซานฟรานซิสโก,ฟิลาเดลเฟีย และ ชิคาโก จึงลุกฮือเพราะคิดว่านี่เป็นการตัดสินโดยอคติ เพราะคณะลูกขุนที่มีส่วนต่อการตัดสินทั้ง 6 คน ไม่มีตัวแทนของชาวอเมริกัน-แอฟริกันเลย
แม้จะบอกว่าการเเสดงออกของ เลอบรอน เป็นมุมมองส่วนตัว ทว่าการกระทำของเขาเป็นการโหมไฟใส่ควันโดยไม่รู้ตัว เพราะหลังจากนั้นไม่นานการจราจลในทั่วทุกหัวระแหงก็เกิดขึ้นในท้ายที่สุด
นอกจากนี้ เลอบรอน แสดงออกทางการเมืองอย่างชัดเจน ด้วยการต่อต้านโดนัลด์ ทรัมป์ เขาไม่ใช่แสดงออกผ่านการเเข่งขันในสนามเท่านั้น เลอบรอน ยังทำมันผ่านสื่อด้วยการวิจารณ์การทำงานของทรัมป์อีกหลายต่อหลายครั้ง จนเป็นที่ถกเถียงกันในผู้สนับสนุนของพรรคการเมืองในอเมริกาและโลกโซเชี่ยลอีกด้วย
จากจุดนี้งานวิจัยของมหาวิทยาลัยชิคาโก้ ในหัวข้อ “The Power and Politics of Sports: Why Games Aren’t Just Games Anymore” จึงเชื่อว่าทางที่ดีที่สุดเหล่านักกีฬาควรจะโฟกัสกับการเเข่งขันในสนามมากกว่า และการพูดในที่สาธารณะควรจะได้รับการคิดวิเคราะห์และวางตัวในการเเสดงความคิดเห็นอย่างรอบคอบ เพราะทุกอย่างบนโลกนี้ย่อมมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และการรับผิดชอบต่อสังคมควรเป็นสิ่งที่นักกีฬาควรระลึกไว้เสมอ
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงความคิดของใครสักคนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ คนเราเมื่อยิ่งเก่งและมีชื่อเสียงยิ่งก็จะยิ่งมีทิฐิภายในใจและเชื่อว่าสิ่งทีตัวเองคิดเป็นสิงที่ถูกต้องที่สุด
เมื่อเหรียญนั้นมี 2 ด้านและด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดต้องยอมรับว่า “ยากจริงๆ” ที่จะใช้กีฬาเพื่อสร้างความสามัคคีให้ได้แบบเต็ม 100% ดังที่เคยคิดไว้ในอุดมคติตลอดมา
การใช้กีฬาเป็นกาวใจระหว่างศัตรูเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งและบางเหตุการณ์ก็ได้ผลดี ...แต่บ่อยครั้งเป็นเพียงผ้าปิดแผล แต่ไม่ใช่การรักษาที่ถูกจุด
สหรัฐอเมริกา พี่ใหญ่ของโลกประชาธิปไตย เคยลองพยายามญาติดีกับคิวบา มาเฟียของโลกคอมมิวนิสต์ ด้วยการใช้เบสบอลเป็นสื่อกลาง
Photo : remezcla.com
บัลติมอร์ โอริโอลส์ ทีมเบลสอบชื่อดังจากสหรัฐอเมริกาเดินทางไปแข่งขันนัดกระชับมิตรกับทีมชาติคิวบา ในปี 1999 ที่กรุงฮาวานา โดยปีเตอร์ อังเจลอส เจ้าของทีมมีความตั้งใจว่า การแข่งขันครั้งนี้จะเป็นการริเริ่มความสัมพันธ์ที่ดีให้กับประเทศที่ต่างกันสุดขั้นในระบอบการปกครองได้
อังเจลอสเล่าว่า “ในจังหวะที่ฟีเดล คาสโตร ผู้นำคิวบาทำความเคารพธงของเรา(แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นธงชาติสหรัฐอเมริกาหรือธงของทีมบัลติมอร์) มันมีค่ามหาศาลต่อความรู้สึกของผมมาก”
หลังจากนั้นคิวบาก็ต้องเดินทางไปเยือนที่บัลติมอร์บ้าง เป็นซีรีส์เบสบอลที่ถูกมองว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในการเชื่อมสัมพันธ์ของชาติที่แตกต่างด้านการปกครอง
การแข่งขันเบสบอลครั้งนั้น ทำให้กระแสเมเจอร์ลีก เบสบอล ในคิวบาดีขึ้นเป็นลำดับ จนทำให้นักเบสบอลคิวบาที่อยากจะไปเล่นในเอ็มแอลบี สหรัฐอเมริกา ต้องหนีออกจากประเทศไปตามฝันของตัวเอง เพราะกฎหมายในบ้านเกิดห้ามเอาไว้
อย่างไรก็ตาม ในปี 2014 ยุคที่บารัก โอบาม่า เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลอเมริกันกับสหพันธ์เบสบอลคิวบา
ปีเตอร์ บียาร์กแมน ผู้เชี่ยวชาญเบสบอลคิวบา พูดถึงเรื่องนี้ว่า คงเป็นไปไม่ได้ที่ทีมเอ็มแอลบีจะไปเปิดอะคาเดมี่ในคิวบา เหมือนที่ทำสำเร็จกับโดมินิกัน เพราะคิวบาคงไม่ยอมให้หน่วยธุรกิจต่างชาติเข้าไปโกยเงินออกมาฝ่ายเดียว รวมทั้งข้อห้ามในการเดินทางและเรื่องอื่นๆ
จนถึงตอนนี้คิวบาและสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากขึ้น มีความเหมือนกันตรงที่คนของสองประเทศหลงรักเบสบอลเหมือนกันก็เท่านั้น ส่วนผลประโยชน์ และแนวทางการปกครองของตัวเองย่อมมาเป็นเรื่องหลัก
อีกเหตุการณ์หนึ่งเป็นความประทับใจที่โลกไม่เคยลืม สงครามระหว่างทหารเยอรมันและอังกฤษ ในปี 1914 กำลังปะทะกันอย่างดุเดือด แต่เมื่อถึงวันคริสต์มาส ทั้งสองฝ่ายตกลงเป็นวันพักสงคราม มีการเอาของขวัญเล็กน้อยมาแลกกัน ร่วมฉลองคริสต์มาสกันอย่างเป็นมิตร รวมทั้งเตะฟุตบอลด้วยอุปกรณ์เท่าที่หาได้ในวันนั้น
แต่หลังจากผ่านวันคริสต์มาสไปแล้ว มิตรภาพที่เกิดขึ้นเพียงวันเดียวก็จบลง และสงครามก็ดำเนินต่อไป ท่ามกลางความสูญเสียของทั้งสองฝ่าย
… ที่สุดเเล้วหากมองกีฬาให้เป็นกีฬาจะเห็นได้ว่าแทบไม่มีผลเสียต่อมนุษย์เลย กีฬาสร้างสุขภาพ สร้างความสุข และความสนุกสนานให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามเมื่อโลกเราประกอบด้วยหลายสิ่งผสมกันจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ปัจจัยภายนอกจะต้องเข้ามามีเอี่ยวไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และเมื่อพลังอำนาจของกีฬามันยิ่งใหญ่เกินกว่าจะเป็นเเค่เกมอีกต่อไป เห็นทีเเล้วหนทางที่กีฬาจะเปลี่ยนโลกให้สงบสุข คงเป็นอะไรที่ต้องใช้ความพยายามกันอย่างหนัก และสิ่งนี้จะไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียวแน่นอน มันต้องอาศัยเเรงและพลังของคนทั้งโลกช่วยกันขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน
...แต่สำหรับปัจจุบัน บทสรุปแบบนี้อาจจะดูโลกสวยจนเกินไปก็เป็นได้
แหล่งอ้างอิง :
http://politics.uchicago.edu/pages/juliet-macur-seminar-series https://www.huffingtonpost.com.au/2017/09/22/three-times-sport-and-politics-mixed-and-the-world-was-better-for-it_a_23218652/
https://www.tandfonline.com/doi/abs/10.1080/09523360903132972?journalCode=fhsp20
http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/776260
https://www.thairath.co.th/content/357174
http://www.bbc.co.uk/guides/z83nfg8
https://hbr.org/2018/07/research-we-take-more-risks-when-we-compete-against-rivals
https://journalistsresource.org/studies/politics/ads-public-opinion/sports-fans-football-politics-military-research