ในเรื่องชีวิตส่วนตัว เธอประสบความสำเร็จเช่นกัน กับการใช้ชีวิตครอบครัวร่วมกับอเล็กซิส โอฮาเนี่ยน เจ้าของเว็บไซต์ชื่อดัง “เรดดิต” กระทั่งเดือนเมษายน 2017 เธอประกาศว่าเธอตั้งท้องลูกคนแรก และจะหายไปจากคอร์ตราว 20 สัปดาห์ ที่สำคัญในช่วงที่เธอคว้าแชมป์ออสเตรเลี่ยน โอเพ่นในปีนั้น เธอตั้งท้องมาแล้ว 1 เดือนเศษ
หลังจากนั้น เซเรน่า หายไปจากคอร์ตเทนนิสเพื่อเตรียมคลอดลูกคนแรก และตั้งเป้าว่าจะกลับมาเล่นเทนนิสอีกครั้งให้เร็วที่สุด
ช่วงเวลาหลังจากนั้น คือช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดในชีวิตของเธอ เซเรน่า ต้องเจอกับสิ่งที่เธอไม่เคยเจอมาก่อน การต่อสู้กับร่างกายตัวเอง ที่ยากยิ่งกว่าคู่ต่อสู้ในคอร์ตเทนนิส
มัน คือ โรคที่ชื่อว่า Postpartum Disorder หรือ โรคซึมเศร้าหลังคลอด
การตั้งครรภ์สำหรับบรรดาคุณแม่ไม่ได้มีความสุขเสมอไป ความคาดหวัง ความเครียดต่างๆ ย่อมเกิดขึ้น พวกเธออาจกังวลว่าตลอด 9 เดือน การดูแลตัวเองของเธอจะทำให้ลูกปลอดภัยหรือไม่ รวมทั้งการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง ทั้งทางกาย และทางสภาวะอารมณ์ขณะอุ้มท้อง
ช่วงนั้นแม้ว่าเซเรน่า วิลเลี่ยมส์ จะต้องหยุดแข่งขันเทนนิส แต่ไม่ได้หมายความว่า เธอจะหยุดออกกำลังกายไปด้วย เธอยังคงตื่นเช้าไปออกกำลังกายในคอร์ตเทนนิสใกล้บ้าน เพื่อให้ตัวเองมีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์ อันส่งผลต่อลูกในครรภ์ และจะช่วยให้เธอฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังคลอดลูกด้วย นอกจากนี้ยังดูแลเรื่องการกินเป็นอย่างดี
“อเล็กซิส สามีของฉัน ดูแลฉันอย่างดีเสมอ เขาเดินจ่ายตลาดเองเพื่อทำให้ฉันกินสิ่งที่ดีที่สุด ช่วงนั้นฉันรู้สึกได้ถึงความอบอุ่นของครอบครัว” เธอเล่า
Photo : Facebook : Serena Williams
บทวิจัยจากศูนย์สุขภาพจิตแห่งแคลิฟอร์เนียระบุว่า ลูกในท้องสามารถสัมผัสกับจิตใจของผู้เป็นแม่ได้ ผู้เป็นแม่ต้องพยายามคลายกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ไม่ให้ฮอร์โมนที่ชื่อ “คอร์ติซอล” หรือฮอร์โมนแห่งความเครียดหลั่งออกมามากเกินไป
วิธีการลดความเครียดในขณะตั้งครรภ์ของคุณแม่ คือการออกไปทำอะไรที่มีความสุข ความสุขโดยธรรมชาติที่จะทำให้จิตใจเบิกบาน
นอกจากวิธีนั้นจะลดการทำงานของฮอร์โมนคอร์ติซอลแล้ว ยังช่วยเรื่องการไหลเวียนของเลือดภายในร่างกายอีกด้วย
การดูแลตัวเองของเซเรน่า วิลเลี่ยมส์ นอกจากจะเป็นการเตรียมตัวก่อนการคลอดลูกแล้ว ยังเป็นวิธีที่ถูกต้องในการป้องกันโรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Disorder) อีกด้วย
วิธีการป้องกันโรคซึมเศร้าหลังคลอด คือการปรับสภาพจิตใจของตัวเองให้ดีอยู่เสมอ เช่นเดียวกับการออกกำลังกาย, เข้าพบแพทย์เป็นประจำ, ไม่ตื่นตระหนกกับชีวิตที่กำลังจะเปลี่ยนไป และ อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว พูดคุยปรับความเข้าใจกันอย่างสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ตาม เซเรน่ายังต้องแก้ปัญหากับร่างกายของตัวเธอเอง ซึ่งแม้เธอจะออกกำลังอย่างถูกวิธีแล้ว แต่ผลกระทบจากการตั้งครรภ์ ทำให้เธอเกิดอาการลิ่มเลือดแข็งตัว ซึ่งทำให้เธอต้องฉีดยาป้องกัน (Anticoagulants) อย่างต่อเนื่องก่อนคลอด
สุดท้าย 9 เดือนที่รอคอยของเธอก็มาถึง วันที่ลูกน้อยอย่าง อเล็กซิส โอลิมเปีย โอฮาเนี่ยน กำลังจะได้ออกมาลืมตาดูโลก เธอใช้วิธีการผ่าคลอดเพราะแม้จะดูแลอย่างดีที่สุดแล้ว แต่เธอยังมีปัญหาลิ่มเลือดในปอดแข็งตัว และยังมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ
การผ่าคลอดสำเร็จด้วยดี “โอลิเวีย” ลืมตาดูโลกด้วยสุขภาพแข็งแรง และมาอยู่ในอ้อมอกของเธอ
Photo : Facebook : Serena Williams
อย่างไรก็ตาม เธอต้องเจอกับปัญหาหลังจากคลอด เพราะอาการลิ่มเลือดอุดตันที่บริเวณปอดของเธอ ทำให้เธอมีอาการไอและหายใจไม่ออก ซึ่งจากอาการไอที่มากเกินไป ทำให้แผลผ่าคลอดบริเวณหน้าท้องฉีกขาด แพทย์ต้องนำตัวเข้าสู่ห้องผ่าตัดโดยด่วน และใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าที่การผ่าตัดจะเสร็จสิ้นลงด้วยดี
สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องผ่าตัด ทำให้ เซเรน่าต้องอยู่ในสภาวะจิตใจที่ตึงเครียดต่อไป เธอต้องอยู่ในโรงพยาบาลต่ออีก 6 สัปดาห์เต็ม โดยทำได้แค่นอนพัก ไม่สามารถลุกออกไปจากเตียงได้
นั่นกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เธอเกิดปัญหาในการใช้ชีวิตกับลูกน้อย โอลิมเปีย ที่เพิ่งจะลืมตาดูโลกได้ไม่กี่วัน นำมาสู่ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า คุณแม่มือใหม่ 19 เปอร์เซนต์ มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Disorder)
อาการนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะฮอร์โมนคอร์ติซอลทำงานมากเกินไป อีกทั้งไม่สามารถรับมือกับปัญหา และความเครียดทั้งในช่วงก่อนคลอด และระหว่างคลอดได้
ทำให้เหล่าคุณแม่คิดว่า “การมีลูก” คือปัญหาในชีวิตของเธอ และหาทางออกไม่ได้ ซึ่งในกรณีของเซเรน่า วิลเลี่ยม แม้มีการเตรียมตัว ดูแลร่างกายตัวเองอย่างดี แต่ก็ยังประสบปัญหานี้
เซเรน่า วิลเลี่ยมส์ โพสต์ภาพและข้อความลงอินสตาแกรมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในข้อความ เธอตัดพ้อว่าเธอไม่ใช่แม่ที่ดี เธอรู้ตัวว่าเธอเป็นโรคนี้ กลัวว่าหากรักษาไม่หาย และอาจมีอาการนี้ติดตัวตลอดไป
เธอกังวลว่าแม้เธอจะกลับไปซ้อมเพื่อเตรียมแข่งขันต่อ แต่เธอก็จะไม่มีเวลาให้กับลูกของเธอมากพอ นั่นทำให้เธอเป็นแม่ที่ล้มเหลว
Photo : Facebook : Serena Williams
เธอไม่ใช่คนเดียวที่เจอกับสถานการณ์แบบนี้ เพราะในปี 2016 “อเดล” ศิลปินหญิงชื่อดัง เคยออกมายอมรับว่า เธอเป็นโรคนี้จน “รู้สึกตัดสินใจผิดพลาดที่สุดในชีวิต” ที่จะมีลูก
อย่างไรก็ตาม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญออกมายืนยันให้เหล่าแม่ลูกอ่อนสบายใจได้ว่า สิ่งที่เซเรน่าเป็นไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร
ดร.อันจาลี่ ชาเบรีย นักจิตวิทยาชื่อดังของอินเดีย อธิบายว่าอาการของโรคนี้ไม่ต่างจากโรคซึมเศร้าปกติ ที่ผู้ป่วยมักจะนอนไม่หลับ ร้องไห้บ่อยครั้ง รู้สึกว่าไม่สามารถสื่อสารกับใครได้ แต่ในกรณีนี้ ความกังวลจะพุ่งไปอยู่ที่ลูกเป็นพิเศษ
“การเลี้ยงลูกสำหรับผู้ป่วยถือเป็นภาระอันหนักอึ้ง เธออาจมีอาการมองโลกในแง่ลบ หรือในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด อาจคิดฆ่าตัวตาย บางรายมีอาการทางจิต คิดว่าทุกคนต่อต้านเธอและลูก หรือบางรายอาจถึงขั้นทำร้ายร่างกายลูกก็มี” ดร.อันจาลี่ พูดถึงอาการร้ายแรงที่สุดของโรคนี้
สำหรับวิธีการรักษาโรคซึมเศร้าหลังคลอดนั้นแตกต่างกันออกไปเป็นรายบุคคล แต่สิ่งสำคัญคือนอกจากครอบครัวจะเป็นตัวช่วยที่สำคัญแล้ว เหล่าคุณแม่ต้องเข้าพบจิตแพทย์อย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน อีกทั้งปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า Transcranial Magnetic Stimulation (การรักษาด้วยสนามแม่เหล็ก) ที่บำบัดโรคซึมเศร้าได้ด้วย ซึ่งเริ่มมีคุณแม่มือใหม่ซึมเศร้าหลายรายใช้วิธีนี้ เพราะสนามแม่เหล็กจะเปลี่ยนการทำงานของสมอง และระบบความคิดจะดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์
สำหรับเซเรน่า เธอยังมี อเล็กซิส สามีของเธอ คอยให้กำลังใจ และ โอลิมเปีย ที่กำลังสร้างความเคยชินกับเธอเช่นเดียวกัน ไหนจะ วีนัส พี่สาวคนเก่งของเธอ
Photo : Facebook : Serena Williams
แม้ว่าเธอจะเป็นโรคนี้อยู่ แต่เซเรน่าหวังว่า เธอจะพลิกสถานการณ์และเอาชนะห้วงเวลาอันเลวร้ายในจิตใจของเธอเองให้ได้ แม้จะต้องตามหลังกี่เซตก็ตาม
ศาสตราจารย์มิเชล ม็อตตอลล่า จิตแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ออนทาริโอ กล่าวว่าโดยทั่วไปอาการซึมเศร้าหลังคลอดจะหายไปภายในระยะเวลา 1 ปี
จากนั้นหากคุณแม่มือใหม่สามารถตั้งหลักได้ และในกรณีของคุณแม่นักกีฬา ถ้าจัดระเบียบชีวิตการฝึกซ้อมของตัวเองให้เหมาะสม ทั้งวิธีการซ้อม และการกินอาหาร พวกเธออาจได้ร่างกายใหม่ที่ดีขึ้นกว่าของเดิมเสียอีก
นั่นเพราะการคลอดลูกจะทำให้กระดูกหลายส่วนในร่างกายขยายตัว เช่นเดียวกับหลอดเลือด ซึ่งจะทำให้หัวใจและปอดทำงานดีขึ้นกว่าเดิม
Photo : Facebook : Serena Williams
“เหมือนกับว่าคุณมีบ้านหลังเดิมที่มีพื้นที่มากขึ้น หัวใจของคุณจะสามารถรับเลือดเข้าไปได้ในปริมาณที่มากกว่าเดิม ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการส่งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของกล้ามเนื้อ”
“พูดง่ายๆคือประสิทธิภาพในการผลักดันเลือดและลมเข้าสู่ส่วนต่างๆของร่างกายจะแรงขึ้นกว่าเดิม นั่นจะทำให้ร่างกายของคุณสดชื่นมากขึ้น และจะมันจะแสดงออกหากคุณออกกำลังกายอย่างถูกวิธี”
กรณีนี้เหมือนกับที่ดาน่า โวลล์เมอร์ นักว่ายน้ำเหรียญทองโอลิมปิกชาวอเมริกัน เคยเปิดใจว่า ร่างกายของเธอดูดีขึ้นมาก เธอฟิตกว่าเดิม หลังจากที่อาร์เลน ลูกชายตัวน้อยของเธอกำลังมีอายุครบ 1 ขวบ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากลูกน้อย ที่ทำให้เธอมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้น
“ฉันคิดว่าฉันต้องมีลูกเป็นแรงบันดาลใจ และทำให้ฉันแข็งแกร่งมากขึ้น และเมื่อฉันมีความสุขกับลูก ฉันสามารถตื่นเช้าได้มากขึ้น (4.30 น.) ทุกวัน เพื่อออกไปเล่นกีฬาได้”
“มันทำให้ฉันตื่นเต้นที่จะได้ใช้ชีวิต ฉันได้ตื่นเช้าขึ้นมา เห็นหน้าลูก และเห็นพัฒนาการของร่างกายตัวเองที่กลับมาฟิตอีกครั้ง ลูกทำให้ชีวิตของฉันมีสมดุลมากขึ้น และลูก ทำให้ชีวิตของฉันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม” โวลล์เมอร์ เคยกล่าวไว้
โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Disorder) อย่างกรณีของเซเรน่า วิลเลี่ยมส์ อาจเป็นอาการที่ฟังแล้วดูน่ากังวล แต่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ยืนยันแล้วว่า โรคนี้ไม่ได้เป็นกับคุณแม่มือใหม่ทุกคน หรือหากมีอาการ ก็จะหายได้ภายในเวลาที่กำหนด
สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เราป้องกันหรือเอาชนะโรคนี้ น่าจะอยู่ที่ความเข้มแข็งของจิตใจ , วินัยที่ดีในการใช้ชีวิต และการดูแลที่ดีจากคนรอบข้าง
ซึ่งเมื่อผ่านช่วงต้นนี้ไปแล้ว คุณแม่ก็จะเริ่มปรับตัวในการดูแลลูกตัวน้อยของพวกเธอเองได้ในที่สุด
แหล่งอ้างอิง
https://sports.vice.com/en_ca/article/mgzpa8/from-birth-to-rebirth-how-athletes-get-back-in-the-game-after-pregnancy
https://www.theguardian.com/lifeandstyle/the-running-blog/2014/nov/04/does-childbirth-improve-athletic-ability
https://www.glamour.com/gallery/elite-athletes-competing-after-pregnancy
https://www.outsideonline.com/2290216/how-elite-athletes-come-back-after-childbirth
http://running.competitor.com/2013/10/training/can-women-come-back-faster-after-pregnancy_61244
https://www.telegraph.co.uk/sport/othersports/athletics/10563263/Jessica-Ennis-Hills-pregnancy-may-lead-to-enhanced-performance-in-the-run-up-to-Rio-2016.html
https://www.runnersworld.com/health-injuries/a20792030/does-having-a-baby-make-you-faster/
https://www.telegraph.co.uk/luxury/jewellery/serena-williams-exercising-pregnant-fashion-harder-tennis/
https://translate.google.co.th/translate?hl=th&sl=en&tl=th&u=http%3A%2F%2Fwww.dailymail.co.uk%2Fhealth%2Farticle-4793084%2FSerena-Williams-showing-pregnant-women-exercise.html&anno=2
https://translate.google.co.th/translate?hl=th&sl=en&u=https://www.self.com/story/serena-williams-working-out-pregnant&prev=search
https://people.com/parents/serena-williams-exercising-during-pregnancy/
https://www.coffscoastadvocate.com.au/news/serena-williams-reveals-how-she-almost-died-giving/3340879/
https://www.local10.com/sports/serena-williams-reveals-new-kind-of-fear-during-daughters-birth
http://www.foxnews.com/health/2016/03/20/exercise-after-baby-do-really-have-to-wait-6-weeks.html
https://www.medicaldaily.com/postpartum-exercise-professional-athlete-giving-birth-379331
http://www.foxnews.com/health/2016/03/20/exercise-after-baby-do-really-have-to-wait-6-weeks.html
http://time.com/5359811/serena-williams-post-partum
https://indianexpress.com/article/parenting/health-fitness/serena-williams-postpartum-depression-symptoms-treatment-5297554/