ซึ่งแม้ทาง NBA จะไม่อนุมัติในตอนแรก แต่ที่สุดแล้วพวกเขาก็เปลี่ยนใจยอมเปิดไฟเขียว นั่นทำให้คลาร์กสันจะได้ลงเล่นให้กับชาติตามเชื้อสายของคุณแม่เป็นครั้งแรกในรายการนี้ทันที แต่ก่อนที่จะได้ประเดิมสนามให้กับ ‘กิลาส’ ในครั้งนี้ Main Stand ขอรวบรวบเหล่านักแม่นห่วงที่เคยผ่านทั้งลีกอาชีพที่ดีที่สุดในโลก รวมถึงมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเอเชียมานำเสนอ ซึ่งบางคนในรายชื่อนี้ก็ได้อานิสงส์จากคลาร์กสัน ทำให้สามารถเล่นเอเชี่ยนเกมส์ที่อินโดนีเซียได้ด้วยเช่นกัน
จะเรียกว่าหวังเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกให้กับนักบาสเกตบอลจากเอเชียใน NBA ก็คงไม่ผิดอะไร เพราะนี่คือนักบาสเกตบอลชาวจีน และที่เกิดในเอเชียคนแรกในประวัติศาสตร์ซึ่งถูกดราฟท์และได้ลงเล่นในลีกอาชีพอันดับ 1 ของโลก เนื่องจาก วาตารุ มิซากะ รวมถึง เรย์มอนด์ ทาวน์เซนด์ ผู้มาก่อนนั้นเกิดในสหรัฐอเมริกา
อดีตผู้เล่น ดัลลัส แมฟเวอริกส์, ลอสแอนเจลิส คลิปเปอร์ส และ ไมอามี่ ฮีต มีโอกาสลงเล่นให้กับทีมชาติจีนในศึกเอเชี่ยนเกมส์ถึง 3 ครั้ง ในปี 1998 ที่กรุงเทพฯ, 2006 ที่โดฮา และ 2010 ที่กว่างโจวบ้านเกิด ซึ่งที่สุดยอดกว่าก็คือ เขาคว้าเหรียญทองได้ทั้ง 3 ครั้งที่ลงทำศึกอีกด้วย
แม้ชะตาชีวิตอาจจะต่างจาก หวัง จื้อจื้อ อยู่บ้าง ตรงที่ปาเทียเข้าสู่ NBA ในฐานะผู้เล่น ‘อันดราฟท์’ แต่วาสนาความสำเร็จของเขาดีกว่าอย่างชัดเจน เมื่อเขาคือผู้เล่นคนแรกจากเอเชียที่ได้แหวนแชมป์จากการเป็นสมาชิกของทีม ซานอันโตนิโอ สเปอร์ส เมื่อปี 2003 โดยในศึกเอเชี่ยนเกมส์นั้น ปาเทียลงเล่นให้ทีมชาติจีน 2 ครั้ง คว้าเหรียญทองในปี 1998 ที่กรุงเทพฯ และเหรียญเงินปี 2002 ที่ปูซาน
คงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณให้มากมายสำหรับ ‘อาเหยา’ เพราะยักษ์โขมดเจ้าของความสูง 229 เซนติเมตร หรือ 7 ฟุต 6 นิ้วคนนี้ คือผู้ที่ปลุกกระแสความนิยมบาสเกตบอล NBA ให้เกิดขึ้นทั่วทวีปเอเชีย รวมถึงเป็นผู้เล่นจากเอเชียคนแรกที่ติดทีมออลสตาร์ และเข้าสู่หอเกียรติยศด้วย
ทว่าสำหรับทีมชาติจีนนั้น แม้เหยาจะเป็นกำลังสำคัญที่พาทีมคว้าแชมป์เอเชียได้ถึง 3 สมัยซ้อน แต่เหรียญทองเอเชี่ยนเกมส์ดูจะเป็นสิ่งเดียวที่ขาดหาย เมื่อเขามีโอกาสลงเล่นในรายการนี้เพียงครั้งเดียวเมื่อปี 2002 ที่ปูซาน ซึ่งทัพมังกรไปเสียท่าเกาหลีใต้เจ้าภาพจนทำได้เพียงเหรียญเงิน ขณะที่ปี 2006 ที่โดฮาซึ่งจีนคว้าเหรียญทอง อาเหยาก็พลาดโอกาสมีส่วนร่วมจากอาการบาดเจ็บ
Photo : lakers.newssurge.com
ซุนถือเป็นผู้เล่นอีกคนในหน้าประวัติศาสตร์ของ NBA เมื่อเขาคือผู้เล่นคนที่สองและคนล่าสุดที่คว้าแหวนแชมป์ จากการเป็นส่วนหนึ่งของทีม ลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส เมื่อปี 2009 ซึ่งเขามีโอกาสรับใช้ทีมชาติจีนในศึกเอเชี่ยนเกมส์ 2 ครั้ง คือปี 2006 ที่โดฮา กับ 2010 ที่กว่างโจว และสามารถคว้าเหรียญทองได้ทุกครั้ง
Photo : www.lakersnation.com
ประสบการณ์ใน NBA ของอี้นั้นถือว่าโชกโชน กับการลงเล่นให้ มิลวอกี้ บัคส์, นิวเจอร์ซี่ย์ เน็ตส์ (บรูคลิน เน็ตส์ ในปัจจุบัน), วอชิงตัน วิซาร์ดส์, ดัลลัส แมฟเวอริกส์ รวมถึงทีมดังอย่าง แอลเอ เลเกอร์ส ในช่วงสั้นๆ ส่วนผลงานในทีมชาตินั้นก็ถือว่าสุดยอด เมื่อเขานำทีมชาติจีนคว้าแชมป์เอเชียปี 2005, 2011 และ 2015 รวมถึงเหรียญเงินปี 2009 และที่ขาดไม่ได้ คือเหรียญทองเอเชี่ยนเกมส์ปี 2006 ซึ่งนั่นถือเป็นครั้งเดียวที่อี้ลงเล่นในเอเชี่ยนเกมส์อีกด้วย
Photo : rocketswire.usatoday.com
โจวคือหนึ่งในนักบาสเกตบอลสายเลือดใหม่ตัวความหวังของจีน เมื่อเขาสร้างชื่อตั้งแต่อายุ 15 ปีด้วยการนำทีมชาติคว้าแชมป์บาสเกตบอลรุ่นอายุไม่เกิน 16 ปีที่ตุรกีแบบสุดเซอร์ไพรซ์ จนได้รับความสนใจจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา แต่เจ้าตัวตัดสินใจเล่นในจีนต่อเพื่อสั่งสมประสบการณ์ ก่อนถูกดราฟท์เข้า NBA เมื่อปี 2016 โดย ฮุสตัน ร็อคเก็ตส์
แม้ประสบการณ์ใน NBA จะยังไม่มากนัก แต่กับทีมชาตินั้นถือว่าโชกโชน เมื่อเขาสามารถคว้าแชมป์เอเชียได้แล้ว 1 สมัยเมื่อปี 2015 ทว่ากับศึกเอเชี่ยนเกมส์ที่อินชอน 1 ปีก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นการเล่นทีมชาติชุดใหญ่รายการแรก ทีมชาติจีนกลับทำได้เพียงอันดับ 5 อย่างไรก็ตาม โจวยังมีโอกาสล่าเกียรติยศที่ขาดหาย เมื่ออานิสงส์จากกรณีของคลาร์กสัน ทำให้เขาได้มาเล่นในเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
Photo : sportsday.dallasnews.com
ถือเป็นหนึ่งในนักแม่นห่วงสายเลือดใหม่ของจีน ซึ่งฟอร์มเก่งที่เขาทำได้กับการเล่นให้ ซานตง โกลเด้น สตาร์ส์ จนสามารถคว้าตำแหน่งผู้เล่นในประเทศทรงคุณค่า 2 ปีล่าสุด ก็ทำให้เขาจะได้มีโอกาสพิสูจน์ตนเองใน NBA หลัง ดัลลัส แมฟเวอริกส์ เซ็นสัญญาเข้าทีมเรียบร้อย
ขณะเดียวกัน ดิงยังเป็นผู้เล่นอีกรายที่ได้ผลประโยชน์จากกรณีของคลาร์กสัน เมื่อเขาจะได้มีโอกาสลงล่าเหรียญทองในเอเชี่ยนเกมส์อีกครั้ง หลัง 4 ปีก่อนหน้าที่อินชอน ทีมชาติจีนซึ่งมีเขาอยู่ในทีมด้วยนั้นเข้าป้ายเพียงอันดับ 5 ของการแข่งขัน
Photo : alchetron.com
ตาบุเสะถือเป็นผู้เล่นสัญชาติญี่ปุ่นแท้ๆ คนแรกที่ได้ลงเล่นใน NBA กับทีม ฟีนิกซ์ ซันส์ แม้จะได้ลงเล่นเพียง 4 นัดก็ตาม แต่ชื่อเสียงที่สร้างมาตั้งแต่สมัยเล่นในระดับมัธยม รวมถึงยังเป็นนักแม่นห่วงจากแดนอาทิตย์อุทัยที่สามารถก้าวถึงระดับ NBA ได้ ทำให้เขาได้ฉายา ‘ไมเคิ่ล จอร์แดน แห่งญี่ปุ่น’
เจ้าตัวมีโอกาสได้เล่นในศึกเอเชี่ยนเกมส์เพียงครั้งเดียวเมื่อปี 2010 ที่กว่างโจว ซึ่งทีมชาติญี่ปุ่นของเขาพ่ายเกาหลีใต้ในรอบรองชนะเลิศ ก่อนเสียท่าอิหร่านในเกมชิงเหรียญทองแดง ทำได้เพียงอันดับ 4 ในการแข่งคราวนั้น
Photo : Twitter : @Kelly Dwyer
แม้สหรัฐอเมริกากับอิหร่านจะมีปัญหาทางการเมืองหลายทศวรรษ แต่นั่นก็ไม่อาจขัดขวางฮัดดาดี้ในการไปพิสูจน์ตัวเองบนเวทีอย่าง NBA ได้ โดยเจ้าตัวซึ่งเป็นผู้เล่นอิหร่านคนแรกในลีก มีโอกาสได้ลงเล่นกับ เมมฟิส กริซลี่ย์ส และ ฟีนิกซ์ ซันส์ ซึ่งกับทีมแรกนั้น เขามีส่วนในการพาทีมเข้ารอบเพลย์ออฟได้ถึง 2 ครั้งในปี 2011 และ 2012
ส่วนในระดับทีมชาติ แม้อิหร่านจะพัฒนาฝีมือจนขึ้นเป็นหนึ่งในยอดทีมของทวีปเอเชีย ซึ่งฮัดดาดี้เองก็มีส่วนร่วมด้วยการคว้าแชมป์ระดับทวีปถึง 3 สมัย ทว่าสำหรับศึกเอเชี่ยนเกมส์นั้น เขายังไม่มีโอกาสสัมผัสเหรียญทอง ก่อนหน้านี้เขาเคยเล่นในรายการนี้แล้ว 2 ครั้ง คว้าเหรียญทองแดงปี 2006 ที่กาตาร์ และเหรียญเงินเมื่อ 4 ปีก่อน บางทีเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 3 ของฮัดดาดี้ในปีนี้อาจ ‘Third Time Lucky’ ก็เป็นได้
Photo : nebaaiaing.tistory.com
สำหรับเกาหลีใต้แล้ว ฮาก็ถือเป็นอีกหนึ่งนักบาสเกตบอลผู้สร้างประวัติศาสตร์แก่ชาติ โดยเป็นผู้เล่นจากแดนโสมขาวคนแรกที่ได้ไปเล่นใน NBA หลัง พอร์ทแลนด์ เทรลเบลเซอร์ส เลือกเขาร่วมทีมในการดราฟท์ปี 2004
แต่ชะตาของฮากับเหรียญทองเอเชี่ยนเกมส์เหมือนจะไม่ต้องกัน เพราะเขามีโอกาสได้เล่นรายการนี้เพียงครั้งเดียวเมื่อปี 2010 ที่กว่างโจว แต่ทำได้เพียงเหรียญเงินโดยแพ้จีน เจ้าภาพในรอบชิงชนะเลิศ ส่วนปี 2014 ที่อินชอน ซึ่งทีมแม่นห่วงโสมขาวคว้าเหรียญทองได้สำเร็จนั้น เจ้าตัวกลับไม่มีชื่ออยู่ในทีม